วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ทักษะการรู้สารสนเทศกับการวิเคราะห์เนื้อหาวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ

ทักษะการรู้สารสนเทศ (information literacy skill) หมายถึงความสามารถในการรู้ว่าเมื่อไรต้องการสารสนเทศ สามารถจำแนกสารสนเทศให้ตรงตามต้องการ กำหนด ประเมิน และใช้สารสนเทศที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแบ่งหมวดหมู่ได้ดังนี้ (Association of College and Research Librarian, 1998)
1. การกำหนดความต้องการสารสนเทศ 2. การใช้กลยุทธ์ในการสืบค้นสารสนเทศ 3. การกำหนดแหล่งสารสนเทศและการเข้าถึงแหล่งสารสนเทศ 4. การใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ 5. การสังเคราะห์สารสนเทศ 6. การประเมินสารสนเทศ
วิเคราะห์ทักษะการรู้สารสนเทศ กับ เนื้อหาวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ
หน่วยที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้และห้องสมุด คุณลักษณะ/ทักษะที่ต้องการ ได้แก่ 1. กระบวนการกลุ่ม การยอมรับความคิดเห็น ความรับผิดชอบ 2. ทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง3. ทักษะการจำแนก
หน่วยที่ 2 การวิเคราะห์ความต้องการสารสนเทศและเตรียมการค้นคว้า คุณลักษณะ/ทักษะที่ต้องการได้แก่ 1.ความคิดสร้างสรรค์2. ทักษะการคิดวิเคราะห์ เพื่อกำหนดความต้องการสารสนเทศ
หน่วยที่ 3 การสืบค้นสารสนเทศ คุณลักษณะ/ทักษะที่ต้องการได้แก่ ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา ความรอบรู้ ทักษะการใช้กลยุทธ์การสืบค้นสารสนเทศ การกำหนดแหล่งสารสนเทศและทักษะการเข้าถึงแหล่งสารสนเทศ ทักษะกระบวนการกลุ่ม ทักษะในการใช้เครื่องมือสืบค้น
หน่วยที่ 4 การเลือกและวิเคราะห์สารสนเทศ คุณลักษณะ/ทักษะที่ต้องการได้แก่ ทักษะการอ่านเพื่อวิเคราะประเมินสารสนเทศและเลือกใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะในการสรุปความ
หน่วยที่ 5 รูปแบบการนำเสนอรายงานจากการค้นคว้าและการอ้างอิง คุณลักษณะ/ทักษะที่ต้องการได้แก่ ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัยในการทำงาน ทักษะในการสังเคราะห์ และทักษะในการเขียน ทักษะการใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

รายงานการประชุมทางวิชาการสมาคมห้องสมุดฯ ปี 2551


หัวข้อเรื่อง “เสริมสร้างสังคมความรู้ การเข้าถึงสภาพที่แตกต่างของสังคม”
ณ โรงแรม
แกรนด์ อยุธยาบางกอก กรุงเทพฯ
จัดโดย สมาคมห้องสมุดแห่งประทศไทย
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี
วันที่ 16 ธันวาคม 2551 -19 ธันวาคม 2551

รายละเอียดในการอบรม/ประชุม/สัมมนา
ปาฐกถาพิเศษ โดย ศาตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน เรื่อง การอยู่ร่วมกันในสภาพที่แตกต่างของสังคม เนื้อหาโดยสรุป คือ ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันโดยช่วยเหลือกัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การอภิปรายเรื่อง สารสนเทศเพื่อความอยู่รอด : ใครใช้ ใครจัด ใครได้ โดย รศ. สุขุม นวลสกุล นางศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ครูสังคม ทองมี ทนายวันชัย สอนศิริ ดำเนินการอภิปรายโดย รศ. ดร. สุขุม เฉลยทรัพย์ โดย รศ. สุขุม นวลสกุล กล่าวถึงสารสนเทศกับการเมือง สารสนเทศมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง ส่วนใหญ่ได้มาจาก primary source บรรณารักษ์เป็นผู้ให้บริการต้องนำเสนอถึงตัว ไม่รอให้ผู้ใช้เดินทางมาห้องสมุด เพราะสารสนเทศเดี๋ยวนี้เข้าถึงได้ง่าย ส่วน ทนายวันชัย กล่าวถึงสารสนเทศกับกฎหมาย เป็นการนำข้อมูลสารสนเทศที่มีอยู่มาตีความตามกฎหมาย ว่า ยุติธรรม หรือ ชอบธรรม ยุติธรรม จะเป็นการยุติเรื่องตามสารสนเทศที่มีอยู่ แต่ชอบธรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นไปตามหลักคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่
ครูสังคม ทองมี กล่าวถึงสารสนเทศกับการศึกษาและศิลปะ ต้องใช้หนังสือเป็นหลัก ส่วนนางศิริบูรณ์ กล่าวถึงสารสนเทศกับสื่อมวลชน ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอาวุธ ดังนั้นจึงควรคิดให้มาก ไตร่ตรอง หาข้อเท็จจริง ก่อนตัดสินใจ เพราะใครมีสื่อในมือ มีข้อมูลมาก คนนั้นชนะ
การอภิปรายเรื่อง แนวคิดที่แตกต่างช่วยเสริมสร้างสังคมความรู้ให้เข้มแข็ง โดย ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ สินลารัตน์ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ดำเนินการอภิปราย โดย ดร. พรรณี สวนเพลง สรุปว่า แนวคิดของสารสนเทศในไทยเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมเปลี่ยนไปจากสังคมบริโภคนิยมเป็นสังคมฐานความรู้ มีการสร้างสังคมเศรษฐกิจบนฐานความรู้ โดยการเรียนรู้ สร้างความรู้ ใช้ความรู้ สร้างผลผลิต มีประสิทธิภาพ/คุณภาพ แข่งขันได้ มีพื้นฐานแนวคิดไทย เน้นชีวิตจริง การคิด กระบวนการ และความเปลี่ยนแปลง ผู้ให้บริการจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส เช่น ผู้ใช้บริการส่งเสียงดัง ก็ให้อ่านบทร้อยกรองแทนการลงโทษ และต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในทางที่ถูกต้องด้วย เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นดาบสองคม
การนำเสนอผลงานวิจัยด้านสารสนเทศ ในแง่ของสารสนเทศด้านพระพุทธศาสนา การให้บริการสารสนเทศแก่ผู้ใช้ที่บกพร่องทางการเรียนรู้
การประชุมระดมความคิดเรื่อง การพัฒนาแนวทางสร้างสังคมความรู้ที่ยั่งยืนในสภาพที่แตกต่าง โดยกลุ่มห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ได้นำเสนอถึงการให้บริการสารสนเทศในสถาบันการศึกษา เน้นการเข้าถึงและให้บริการสารสารสนเทศที่ใช้เทคโนโลยี ส่วนห้องสมุดอาชีวศึกษา จะมีปัญหาเรื่องบุคลากรที่มีจำนวนจำกัด และผู้ใช้ที่มีความต้องการสารสนเทศด้านอาชีพ จึงควรสร้างความร่วมมือหรือเครือข่าย มีการสรุปการทำงานเพื่อขอบุคลากรที่มีความรู้บรรณารักษศาสตร์เพิ่ม ปีนี้ บรรณารักษ์ของอาชีวศึกษามาเข้าร่วมประชุมเพียง 4 คน เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ทำให้มีปัญหาในการประชุมชมรมห้องสมุดเพื่อการอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี
สรุปผลการดำเนินงานของสมาคม ที่ประชุมมีมติให้สมาคมดำเนินงานเฉพาะกิจกรรมทางวิชาการ งดขายสินค้า นอกจากให้บริการด้านออกแบบห้องสมุด
การศึกษาดูงานห้องสมุดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นห้องสมุดที่ทันสมัยมาก มีเทคโนโลยีเพื่อให้บริการผู้ใช้ มีทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทด้านการออกแบบ มีห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ ผู้ใช้สามารถสัมผัสของจริงได้ นอกจากนี้ ทางห้องสมุด TCDC ได้นำโปรแกรม Library 2.0 มาใช้ร่วมกับ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS ทำให้ผู้ใช้สามารถหาหนังสือในชั้นแต่ละชั้นได้ได้โดยสัมผัสกับจอคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งไว้ที่ชั้นหนังสือแต่ละชั้น
ส่วนห้องสมุดสยามสมาคม จะเก็บทรัพยากรสารสนเทศด้านโบราณคดี มานุษยวิทยา เป็นหลัก และเน้นที่เกี่ยวกับประเทศไทย หนังสือ วารสารส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เน้นการให้บริการผู้ใช้ที่ต้องการทรัพยากรสารสนเทศที่เฉพาะทาง
ปัญหาและอุปสรรคในการประชุม/สัมมนา
เนื่องจากการประชุมอยู่ในกรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมประชุมไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ เพราะราคาที่พักค่อนข้างสูงกว่าที่มีสิทธิ์เบิกได้ จึงใช้การเดินทางไปกลับ ทำให้เหนื่อยล้ามาก นอกจากนี้ ชมรมห้องสมุดเพื่อการอาชีวศึกษา มีสมาชิกเข้าร่วมน้อย เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บริหาร ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมกลุ่มเพื่อหาแนวทางการพัฒนาห้องสมุดได้
สรุปข้อคิดเห็น ประโยชน์ ที่ได้รับและข้อเสนอแนะ หรือสิ่งที่คิดว่าจะนำมาปรับปรุงใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ราชการ
1. ผู้ให้บริการจะต้องให้บริการผู้ใช้แบบเข้าถึงตัว คือเป็นฝ่ายเข้าหาผู้ใช้ไม่รอให้ผู้ใช้เข้ามาหา
2. ผู้ให้บริการต้องมีความอดทนและทำงานมากกว่าที่เป็นอยู่เพราะการให้บริการเป็นงานหนัก
3. เทคโนโลยีสารสนเทศมีทั้งที่เป็นคุณและโทษ ในฐานะผู้ให้บริการจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เหมาะสม
4. เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เมื่อผู้ใช้บริการทำผิดระเบียบ ควรลงโทษในทางบวก เช่น ส่งเสียงดัง จะต้องอ่านบทร้อยกรองเสียงดัง และถ้าเป็นกลุ่ม จะต้องให้แสดงท่าทางและความรู้สึกในการอ่านด้วย

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

บล็อก

รู้จัก เว็บบลอก
สารสนเทศบนอินเทอร์เน็ตอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้กำลังนิยม คือ บล็อก บล็อก (blog) เป็นคำรวมมาจากคำว่า เว็บล็อก (weblog) เป็นรูปแบบเว็บไซต์ประเภทหนึ่ง ซึ่งต่างจากเว็บไซต์ทั่วไป วิธีการนำเสนอก็ง่ายกว่า ผู้สร้างบล็อกไม่ต้องมีความรู้ด้านภาษาหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการเขียนเว็บไซต์ เพียงแต่มีความสามารถที่จะนำเสนอผลงาน ก็สร้างบล็อกได้ บล็อกจะประกอบด้วย ข้อความ ภาพ และ ลิงก์เชื่อมต่อ ทั้งนี้ อาจจะมีสื่อมัลติมีเดียต่างๆ เช่น เพลง หรือวิดีโอคลิป ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้สร้างบล็อก ความนิยมที่มากขึ้น ทำให้หลายเว็บไซต์เปิดให้มีส่วนการใช้งานบล็อกเพิ่มขึ้นในเว็บของตนเอง เรียกว่าผู้ให้บริการ เพื่อเรียกให้มีการเข้าสู่เว็บไซต์ของตนมากขึ้น บล็อก มีลักษณะ ดังนี้
-มีการบันทึกเนื้อหาโดยเจ้าของบล็อกอย่างสม่ำเสมอ
- ข้อมูลจะถูกจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ บทความในบล็อกจะแสดงตามลำดับเวลาในการเขียน โดยแสดงบทความที่เขียนล่าสุดไว้แรกสุด แล้วไล่ลำดับย้อนหลังตามวันเวลาการเขียนไปเรื่อยๆ
- มักจะมีการลิงค์ไปหาบล็อกอื่นที่ผู้เขียนสนใจหรือได้เสนอความคิดเห็นโยงต่อจากข้อเขียนที่เขาอ้างถึง ดังนั้น นอกจากบล็อกจะใช้ในการเขียนและเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ แล้ว ก็ยังเป็นแหล่งรวมลิงค์ที่เจ้าของบล็อกนั้นๆ ใช้เป็นฐานเพื่อเสริมต่อความรู้อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นลิงค์ของบล็อกอื่นๆ หรือลิงค์ของเว็บไซต์ก็ตาม
- บันทึกที่เขียนไว้ในบล็อกมักจะมีการแยกแยะเป็นกลุ่มเนื้อหาตามหัวข้อหลักๆ ที่ผู้เขียนสร้างขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อ่าน ที่สนใจในบันทึกที่มีความสัมพันธ์กันในใจความหลัก
- เมื่อผู้อ่านได้รับความรู้ต่างๆ จากผู้เขียนบล็อกแล้ว ผู้อ่านมักจะมีการเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกลุ่มผู้อ่านและผู้เขียนบล็อก โดยแสดงต่อท้ายข้อความที่เจ้าของบล็อกเป็นคนเขียน ซึ่งทำให้เจ้าของบล็อก ได้ผลตอบกลับโดยทันที
ประวัติความเป็นมาของบล็อก เริ่มจากการเขียนเฉพาะเรื่องส่วนตัวหรือเรียกว่าไดอารีออนไลน์ โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ หรือ CERN สร้างเว็บไซต์ที่มีส่วนที่เรียกว่า What’s New สำหรับแจ้งข่าวสารใหม่แก่ผู้เข้าใช้ ในปี 1992 ต่อมา จัสติน ฮอลล์ นักศึกษาชาวอเมริกัน ได้มีสร้างไดอารีออนไลน์ ( Online Diary) ในลักษณะเว็บไซต์บันทึกชีวิตส่วนตัว เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1994 ในชื่อ Justin’s Links (links.net) เขาได้รับการขนานนามว่า Escribitionist อันหมายถึงผู้ชอบเขียนเปิดเผยเรื่องราวของตน
ต่อมา มีผู้ใช้ไดอารีออนไลน์ในการเขียนเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น แต่ยังไม่มีการบัญญัติคำที่ใช้เรียกรูปแบบของเว็บไซต์ดังกล่าวอย่างชัดเจน ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1997 ชาวอเมริกันชื่อ จอร์น บาร์เกอร์ ได้บัญญัติคำแทนเว็บไซต์แบบนี้ว่า “Weblog” เพื่ออธิบายลักษณะเด่นของมัน อันเป็นการรวมคำว่า Web (เว็บไซต์) กับ Log (การบันทึกข้อมูลในอินเทอร์เน็ต)
บริษัทเอกชนหลายแห่งได้มีการจัดทำบล็อกขึ้น เพื่อเสนอแนวความเห็นใหม่ใหักับลูกค้า ในลักษณะข่าวสั้น และรับการตอบรับจากลูกค้าที่แสดงความเห็นตอบกลับเข้าไป เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในวงการสื่อมวลชนในหลายประเทศนิยมใช้บล็อก คนเขียนบล็อกกลายเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ก็มีหลายคน จนสื่อมวลหลายแขนงเริ่มนำบล็อกมาใช้ร่วมกับสื่อของตนมากขึ้น เนื่องจากระบบที่เรียบง่าย และสามารถตีพิมพ์เรื่องราวได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้ในการเขียนเว็บไซต์ นอกจากผู้เขียนข่าวส่งผลงานให้กับทางสื่อมวลชนแล้ว ยังเขียนข่าวในอีกช่องทางหนึ่งโดยการเขียนบล็อกเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชนได้ สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้จัดทำบล็อกขึ้นเพื่อเผยแพร่บทความเกี่ยวกับองค์ความรู้ในแขนงต่างๆ ครูหลายคนใช้บล็อกในการเผยแพร่ผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้ ผู้ใช้งานบล็อกจะแก้ไขและบริหารบล็อกผ่านทางเว็บเบราว์เซอร์เหมือนการใช้งานและอ่านเว็บไซต์ทั่วไป โดยจะมีรูปแบบบริหารบล็อกที่แตกต่างกัน เช่นบางระบบที่มีบรรณาธิการของบล็อก ผู้เขียนหลายคนจะส่งเรื่องเข้าทางบล็อก และจะต้องรอให้บรรณาธิการอนุมัติให้บล็อกเผยแพร่ก่อน บล็อกถึงจะแสดงผลในเว็บไซต์นั้นได้ ซึ่งจะแตกต่างจากบล็อกส่วนตัวที่จะให้แสดงผลได้ทันที ผู้เขียนบล็อกในปัจจุบันจะใช้งานบล็อกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไม่ว่า ติดตั้งซอฟต์แวร์ของตัวเอง หรือใช้งานบล็อกผ่านทางเว็บไซต์ที่ให้บริการบล็อก
สำหรับผู้อ่านบล็อกจะใช้งานได้ในลักษณะเหมือนอ่านเว็บไซต์ทั่วไป และสามารถแสดงความเห็นได้ในส่วนท้ายของแต่ละบล็อกโดยอาจจะต้องผ่านการลงทะเบียนในบางบล็อก นอกจากนี้ผู้อ่านบล็อกสามารถอ่านบล็อกได้ผ่านระบบฟีด ซึ่งมีให้บริการในบล็อกทั่วไป ทำให้ผู้ใช้สามารถอ่านบล็อกได้โดยตรง ผ่านโปรแกรมตัวอื่นโดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาสู่หน้าบล็อกนั้น
การจัดการเนื้อหาบนเว็บบล็อก จะใช้ซอฟต์แวร์ หรือ บล็อกแวร์ เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในอินเทอร์เน็ต ที่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้สร้างหรือดูแลบล็อกจะแยกจากกัน ส่งผลให้ผู้สร้างบล็อกสามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ในด้านเอชทีเอ็มแอล หรือการทำเว็บไซต์แต่อย่างใด ผู้สร้างบล็อกสามารถเพิ่มเติม ข้อมูลและสารสนเทศได้ นอกจากนี้บล็อกซอฟต์แวร์จะสนับสนุน ระบบ WYSIWYG ซึ่งทำให้ง่ายต่อการเขียน และอาจเพิ่มเติมการมีเทมเพลตในหลายแบบให้เลือกใช้ ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งได้ทันทีโดยผู้ใช้ ซึ่งซอฟต์แวร์บางส่วนเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ผู้พัฒนาสามารถนำมาปรับแก้ เป็นของตนเอง ติดตั้งไว้ใช้เป็นบล็อกส่วนตัว หรือเผยแพร่ให้คนอื่นมาใช้งานได้ ส่วนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์นั้น จะมีทั้งในรูปแบบที่ให้ใช้งานแบบเสียค่าใช้จ่ายหรือให้ใช้งานฟรีแวร์
บล็อกซอฟต์แวร์ที่เป็นที่นิยมพร้อมทั้งชื่อซอฟต์แวร์ที่ใช้พัฒนาในวงเล็บ
ดรูปาล (พีเอชพี/มายเอสคิวแอล)
เวิร์ดเพรสส์ (พีเอชพี/มายเอสคิวแอล)
สแลช (เพิร์ล)
ไลฟ์ไทป์ (พีเอชพี/มายเอสคิวแอล)
ผู้ให้บริการบล็อกที่เป็นที่รู้จัก
บล็อกเกอร์ (กูเกิล) ไทป์แพด เวิร์ดเพรสส์ ยาฮู! 360° หรือ ยาฮู!เดย์ (ยาฮู!)
วินโดวส์ไลฟ์ สเปซเซส (ไมโครซอฟท์) มายสเปซ มัลติไพล
ผู้ให้บริการบล็อกในประเทศไทยที่เป็นที่รู้จัก
Blognone บล็อกสำหรับเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่างเดียว
http://www.exteen.com/
http://gotoknow.org/blog
บล็อกแก๊ง http://www.bloggang.com/
โอเคเนชั่น http://www.oknaton.com/
http://blog.mthai.com/,
http://blog212cafe.com/,
http://blog.hunsa.com/
http://thaiblog.info/
เว็บไซต์ยอดนิยมของไทยอย่าง สนุก.คอม (http://blogsnook.com/ ) และ กระปุก.คอม (http://blog.kapook.com/)ได้มีการเปิดให้บริการบล็อก
เว็บค้นหาบล็อกอย่าง เทคโนราที ได้อ้างไว้ว่าปัจจุบันในอินเทอร์เน็ต มีบล็อกมากกว่า 112 ล้านบล็อกทั่วโลก
วิธีการสร้างบล็อก
ขั้นตอนการสร้างบล็อกจะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ แต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน ตัวอย่าง การสร้างบล็อก โดยใช้บริการของ http://www.blogger.com/ (โปรดเปิดดูหน้าจอของเว็บไซต์ประกอบ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเวบบล็อกของ google ได้แสดงวิธีสร้างเว็บบล็อกภายใน 3 ขั้นตอนง่าย ๆ:
ก่อนอื่น ผู้สร้างต้องมี อีเมล์ และรหัสผ่าน อีเมล์จะเป็นของอะไรก็ได้แต่แนะนำ ให้ใช้ gmail ของ google กรอกข้อมูลลงในช่องผู้ใช้อีเมล์ และรหัสผ่าน ไปที่ สร้างบล็อกของคุณทันที คลิกเปิด จะไปสู่ขั้นตอนการสร้างบล็อก 3 ขั้นตอน
1. สร้างบัญชี จะต้องกรอกรายละเอียดให้ครบ อ่านรายละเอียดและต้องยอมรับสิทธิ
ในการใช้ จากนั้นจึงคลิกดำเนินการต่อ
2. ตั้งชื่อเว็บบล็อกของคุณ หน้านี้ จะต้องกำหนดชื่อที่ใช้ในโปรไฟล์ ตั้งชื่อเว็บ
และกำหนดที่อยู่ (url) ของเว็บ ถ้าชื่อที่ใช้ไม่ซ้ำกับที่มีอยู่แล้ว การดำเนินการจะเสร็จสิ้น และไปที่เลือกแม่แบบ
3. เลือกแม่แบบ ผู้ให้บริการมีแม่แบบให้เลือกใช้ เมื่อเลือกแล้ว จะแก้ไขภายหลังก็
ได้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงสี หรือ หัวข้อ ดังนั้น ผู้สร้างจึงเลือกรูปแบบใดที่พอใจไว้ก่อนได้ เมื่อตกลงเลือกแบบใดแบบหนึ่ง เว็บบล็อกของคุณก็เสร็จสมบูรณ์
การใช้งานเว็บบล็อกเมื่อสร้างแล้ว
1. ป้อนที่อยู่ (URL) ที่กำหนดไว้
2. ลงชื่อผู้ใช้อีเมล์ และรหัสผ่าน ควรระลึกไว้ว่า ทั้งหมดนี้ จะต้องตรงกับชื่อผู้ใช้
อีเมล์ และรหัสผ่านเดียวกันกับขั้นตอนการสร้าง
3. คลิกลงชื่อผู้เข้าใช้
4. ไปที่บทความใหม่ ตั้งหัวข้อเรื่อง ในช่องหัวข้อเรื่อง และพิมพ์ข้อมูล ในช่อง
ข้อมูล ในขั้นตอนนี้ สามารถเลือกแบบตัวอักษร ตามต้องการ ถ้าจะให้มีรูปภาพ ก็ไปที่รูปภาพ ซึ่งสามารถเลือกรูปภาพจากแฟ้ม หรือแหล่งที่ต้องการได้
5.เมื่อเขียนบทความเสร็จ ไปที่เผยแพร่บทความ บทความที่เขียนไว้จะไปปรากฏในบล็อก
ผู้สร้างสามารถเปิดดูได้ โดยไปที่ เทมเพลท “ดูบล็อก” ถ้าไม่พอใจจะแก้ไข ให้ไปที่ เทมเพลท “แก้ไขบทความ” ผู้สร้างสามารถบันทึกบทความไว้ด้วยก็ได้ถ้ายังไม่เผยแพร่
สรุป โดยทั่วไป บล็อกแต่ละบล็อกมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น บล็อกที่เกี่ยวกับการจัดการความรู้ บล็อกด้านการศึกษา บล็อกด้านห้องสมุด เป็นต้น การสร้างเอกลักษณ์ของบล็อก และการเขียนที่สม่ำเสมอ จะทำให้บล็อกเป็นที่น่าสนใจ และได้รับการติดตามจากผู้อ่าน บางครั้ง เจ้าของบล็อกอาจมีความรู้ความถนัดหลายด้าน การเขียนในบล็อกเดียวอาจทำให้ยากต่อการแยกหมวดหมู่ความรู้ และยากสำหรับผู้อ่านในการติดตามอ่าน ผู้เขียนหนึ่งคน จึงสร้างบล็อกได้มากกว่าหนึ่งบล็อก เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทีแตกต่างกัน ตัวอย่างผู้ให้บริการอย่าง GotoKnow.org ได้เสนอเรื่อง Multi- blog ไว้อย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับผู้สร้างว่าจะเลือกผู้ให้บริการ จากเว็บใด
อ้างอิงจาก
ธัชชัย วงศ์กิจสาโรจน์. (2551) . กำเนิดคำว่า“บล็อก” และอีกหลายปีต่อมา. สารคดี 24: 285 (พ.ย.), 42-43
บล็อก (blog) ค้นข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/wiki เมื่อ 2 ธันวาคม 2551.
Blog or Weblog คืออะไร? ค้นข้อมูลจาก http://gotoknow.org/blog/tutorial/3เมื่อ 2 ธันวาคม 2551.
Blogger ค้นข้อมูลจาก http://www.blogger.com/ เมื่อ 2 ธันวาคม 2551.