วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ห้องสมุดวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ห้องสมุดดีเด่น 2554

ห้องสมุดวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ได้รับคัดเลือกจากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ให้เป็นห้องสมุดดีเด่น ประเภทห้องสมุดเพื่อการอาชีวศึกษา ขนาดใหญ่ ภาคกลาง ปี พ.ศ. 2554  ผู้อำนวยการ จุรินทร์ มิลินทสูต  ไปรับรางวัลจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อเดือนมีนาคม 2555

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การประกวดห้องสมุดดีเด่น ของ สอศ. ปี 2554

สมาชิกชมรม ชอท. และสมาชิกสมาคมห้องสมุดฯ ท่านใด สนใจส่งห้องสมุดเข้าประกวด ห้องสมุดดีเด่น ของ สอศ. ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สมาคมห้องสมุดฯ หรือ ชมรม ชอท. อาจารย์ลัดดา สิทธิชัย วิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์ อ. เมือง จ. ประจวบฯ

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

แนวคิดใหม่ในการพัฒนารูปลักษณ์ห้องสมุดและการจัดกิจกรรม

ข้อคิดบางประการจากการเข้าร่วมเสวนาใน หัวข้อ แนวคิดใหม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องสมุด
1. รูปแบบของห้องสมุดได้เปลี่ยนเป็นห้องสมุดมีชีวิตเต็มรูปแบบ โดยเปลี่ยนสีในห้องสมุดจากสีธรรมชาติ มาเน้นสีสันมากขึ้น โดยใช้สีเขียว ส้ม เป็นหลัก รวมทั้งเปลี่ยนสีชั้นหนังสือ ตามประเภทของหนังสือ
2. จากการสำรวจห้องสมุด ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มีการจัดห้องสมุด ให้มีที่นั่งกับพื้น ปูพรม ตกแต่งด้วยไม้อัดตัดเป็นรูปต้นไม้ ทาสีสวยงาม มีบริการน้ำดื่ม ชา กาแฟ ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ นั่งอ่านหนังสือ หรือใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก ก็ได้
3. มีการจัดทำห้องสมุดให้เป็น human library หรือ living book โดยใช้คนที่มีความรู้เฉพาะด้านเป็นอาสาสมัคร พูดแทนหนังสือ ผู้ใช้ซักถามพูดคุยในเรื่องที่อยากรู้ เช่น ต้องการได้รายละเอียดการศึกษาต่อ ห้องสมุดจะเชิญครูแนะแนวมาให้ผู้ใช้พูดคุย อยากรู้เรื่องโทรศัพท์มือถือ ก็เชิญครูอิเล็กทรอนิกส์มา ให้ผู้ใช้ซักถาม การจัด human library ต้องจัดเป็นกิจกรรม มีระยะเวลา มีสถานที่ และคนที่มาเป็น living book ต้องมีความน่าสนใจ ห้องสมุดในไทยที่เริ่มจัดทำโครงการ human library ได้แก่ สำนักวิทยบริการและห้องสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (ผศ. คงศักดิ์ สังฆมานนท์) และ โรงเรียนโนนไทย (ครูระเบียบ จันทา)
ผู้สนใจ ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ ของสำนักวิทยบริการฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ โรงเรียนโนนไทย

การส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องสมุดอาชีวศึกษา

บทความนี้ เป็นการบรรยายในฐานะวิทยากรร่วมเสวนา เรื่อง แนวคิดใหม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องสมุด จัดโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา วันที่ 23 กันยายน 2553 ณ สำนักวิทยบริการและหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการจัดงานในครั้งนี้ ที่ให้โอกาสมาแสดงความคิดเห็น เนื่องจากผู้ที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ เป็นอาจารย์บรรณารักษ์จากห้องสมุดของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเทียบกันไม่ได้กับห้องสมุดของอาชีวศึกษา ชื่อเป็นวิทยาลัยก็จริงแต่ห้องสมุดมีลักษณะห้องสมุดโรงเรียนเสียละมาก
ผู้เรียนสายอาชีพ ไม่เหมือนกับผู้เรียนสายสามัญ เพราะการเรียนส่วนใหญ่จะเป็นปฏิบัติ วิชาที่เรียนจะเน้นการปฏิบัติเป็นหลัก เพื่อให้ผู้เรียนประกอบอาชีพได้ วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ไม่เหมือนที่อื่น คือ ครูจะสอน แล้วนักศึกษาต้องปฏิบัติตามใบงาน เมื่อปฏิบัติแล้วต้องเขียนอธิบาย ซึ่งนักศึกษาต้องอาศัยห้องสมุด เพราะไม่ถนัดที่จะเขียนเอง จึงมาค้นคว้า และเขียนตามหนังสือ ห้องสมุดต้องหาหนังสือและสื่อที่ตอบสนองความต้องการของนักศึกษาให้ได้ ครูที่ สั่งงานนักศึกษา ไม่เคยมาสำรวจว่าห้องสมุดมีหนังสือหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของบรรณารักษ์ที่ต้องหามาให้ได้ ถ้าไม่มีในห้องสมุด ก็ต้องไปหามาจากห้องสมุดอื่น เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักศึกษา ดังนั้น แนวทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องสมุด วิธีการแรก คือ สร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้บริการ จุดเริ่มต้นของความประทับใจนี่เอง ทำให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของห้องสมุด เมื่อเห็นว่าห้องสมุดสำคัญ เวลาว่าง จะมาห้องสมุด ใช้ห้องสมุดเป็นสถานที่พบปะกัน ทำการบ้าน รวมถึงเป็นที่นั่ง ที่นอน ในยามเหนื่อยล้า บรรณารักษ์จะต้องมีปิยวาจา มีของชำร่วยเป็นลูกอม บ้าง เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในระยะยาว วิธีการที่ 2 ส่งเสริมให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ที่เข้าห้องสมุด ไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษาคงแก่เรียน แต่มีหลากหลาย ทำการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ไม่ได้ ก็มาห้องสมุด เพราะจะมีนักศึกษาที่คงแก่เรียนมาสิงอยู่ บรรณารักษ์ต้องเป็นคนช่างสังเกต ช่างจำ เพราะจะทำให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ วิธีการแรก ที่ไม่ต้องลงแรงมานัก โดย จัดให้ 2 กลุ่มนี้ พบกัน มีหนังสือคณิตศาสตร์เป็นสื่อ มีการติวกันเกิดขึ้น สิ่งที่บรรณารักษ์จะทำคือ ไม่ให้ทำการบ้านให้กัน ต้องอธิบาย บรรณารักษ์จะหาหนังสือที่ต้องใช้ หากระดาษมาให้ กำหนด โต๊ะสำหรับสอนกันให้ รวมทั้งนัดเวลาในครั้งต่อๆ ไป จนเกิดเป็นวัฒนธรรมขึ้น
วิธีการที่ 3 บรรณารักษ์ต้องมีจิตให้บริการ สำหรับตนเอง มีความรู้ในวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ชนิดที่เขียนสุนทรพจน์ คำกล่าว ต่างๆ รวมทั้งแปลอังกฤษเป็นไทย ได้ จะมีนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง มาปรึกษา ให้สอน ทบทวน สิ่งที่เรียนมา นักศึกษาในกรณีนี้ จะมากันเป็นกลุ่ม เราต้องไม่สอนอย่างเดียว แต่เราต้องหาหนังสือที่มีเรื่องนั้นมาให้นักศึกษาดูและอธิบายคำถาม วิธีการตอบ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ต้องให้เปิดพจนานุกรม ด้วย นักศึกษาจะเกิดการเรียนรู้ และทำได้เองในครั้งต่อไป วิธีการที่ 4 นักศึกษาที่จะจบการศึกษา ต้องทำโครงงานทั้งในระดับ ปวช. และ ปวส. ปวช. หมายถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เทียบเท่ากับระดับมัธยมปลาย ส่วน ปวส. หมายถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เทียบได้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 2 ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีพื้นฐานในการทำโครงงานต่างกัน ครูที่สอนก็จะมีพื้นฐานวิจัยไม่เท่ากัน ดังนั้น สิ่งที่ห้องสมุดจะทำได้ คือ มอบรายชื่อบทคัดย่อโครงงานที่ห้องสมุดมีให้กับแผนกช่าง ติดต่อไปที่ครูผู้สอน และแจ้งให้ทราบว่าห้องสมุดมีโครงงานสมบูรณ์ทั้งหมด ที่นักศึกษารุ่นที่ผ่านมาเคยทำไปแล้ว ครูผู้สอนจะให้นักศึกษามาศึกษาโครงงานเก่า บรรณารักษ์จะต้องนำโครงงานมาอธิบายว่า เล่มใดมีความถูกต้อง สมควรดูเป็นตัวอย่าง เล่มใดไม่สมบูรณ์ มีการเขียนผิดพลาด โครงงานใด สามารถไปทำใหม่เป็นการพัฒนานวัตกรรม หรือต่อยอด เป็นโครงงานชิ้นใหม่ได้ รวมทั้งอธิบายวิธีการเขียน ความเป็นมาของโครงการในบทที่ 1 และ วรรณกรรมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในบทที่ 2 และขอครูผู้สอน เป็นผู้ร่วมตรวจเอกสารโครงงานด้วย ทำให้นักศึกษา เห็นความสำคัญ ของการใช้ห้องสมุด และเกิดการเรียนรู้การทำโครงงาน วิธีการที่ 5 จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้แก่ การจัดนิทรรศการ ทั้งนิทรรศการในวันสำคัญ นิทรรศการหนังสือใหม่ กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่จัด จะเป็นการสะสมแต้มยืมหนังสือ นักศึกษาส่วนใหญ่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว เมื่อมีแรงกระตุ้น จะทำให้เกิดพลังอยากอ่านมากขึ้น เมื่ออ่านจบ ครูจะถามเนื้อหาย่อๆ ความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือ สนุกไหม ชอบตรงไหน เมื่อสิ้นสุดโครงการ จะสอบถามความคิดเห็น โดยเขียนเรียงความ แสดงความคิดเห็น ทุกคนที่เขียนจะได้ปากกา ใครเขียนได้ดี จะได้รางวัล ใหญ่เป็นกล่องดินสอ วิธีที่ 6 จัดหาสื่อให้หลากหลาย และตรงตามต้องการ ในห้องสมุดวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม มีมุมเกม ให้เล่นหมากรุก หมากฮอส หมากล้อม สแครบเบิ้ล และมีหนังสือเกี่ยวกับการเล่น มีห้องฉายภาพยนตร์จากเคเบิ้ลและ มุมโทรทัศน์เพื่อการศึกษา มีห้องอินเทอร์เน็ตให้ค้นคว้า มีหนังสือที่ผู้ใช้สามารถเสนอซื้อได้ เลือกจากร้านหนังสือก็ได้ หนังสือต้องอ่านง่าย เล่มไม่หนา มีภาพประกอบ มีเกมคอมพิวเตอร์ เถ้าแก่น้อย ไว้ฝึกสมอง นักศึกษาแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน ใครชอบอ่าน จะสมัครสมาชิก bookclub ใครไม่ชอบ จะดูหนัง ฟังเพลงบ้าง อ่านการ์ตูนบ้าง แต่ครูจะคอยแทรกสาระ โดยการพูดคุย ไปบ้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แต่อย่างช้าๆ ใครชอบคอมพิวเตอร์ จะเล่นเกมบ้าง ค้นคว้าบ้าง ก็ไม่ว่ากัน วิธีที่ 7 เป็นวิธีสำหรับชุมชน รวมถึงลูกครู ครอบครัวของครู ห้องสมุดจะมีหนังสือสำหรับลูกครูทุกระดับ มีการ์ตูนความรู้ เรื่องสั้นๆ รายงานของลูกครู ครอบครัวครู ตัวครูที่เรียนระดับปริญญาโท ก็มีหนังสือและข้อมูลไว้บริการ ชุมชน ศิษย์เก่า ต้องการคู่มือใช้ในการประกอบอาชีพ มาตรฐานเครื่องเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า ห้องสมุดก็มีมาตรฐานของ สมอ. และ คู่มือวิศวกรทุกสาขา มีทำเนียบวัสดุก่อสร้าง รวมถึง Data Standard ระดับสากล ไว้ให้ค้นคว้า ศิษย์เก่าที่จบแล้วไปประกอบอาชีพส่วนตัว จะย้อนกลับมาค้นคว้าในห้องสมุด มาอัปเดทข้อมูลข่าวสาร และนำเอกสารที่ตัวเองมีมอบให้กับห้องสมุด เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ห้องสมุดวิทยาลัยเทคนิคนครปฐมได้รับหนังสือบริจาคแต่ละปี มากกว่า ที่ได้รับจากการจัดซื้อตามงบประมาณ และหนังสือแต่ละเล่มจะเป็นหนังสือใหม่ มีคุณค่า หาซื้อไม่ได้ ร้านหนังสือในจังหวัด จะนำหนังสือมามอบให้ทุกปี เพราะเห็นว่าห้องสมุดบริการผู้ใช้ทุกระดับ และมีจำนวนผู้ใช้ห้องสมุดต่อวัน ปริมาณสูง นักศึกษา กว่าครึ่งเข้าห้องสมุดทุกวัน และเมื่อจบไปแล้ว ไปศึกษาต่อที่อื่น ก็ยังย้อนกลับมาเพราะมีหนังสือที่ตนเองต้องการ มากกว่าห้องสมุดใหม่ที่ตนไปศึกษา มีศิษย์เก่าคนหนึ่ง ไปเรียนต่อวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ เขียนเรียงความเรื่อง ห้องสมุดที่ประทับใจ ยังเขียนเรื่องห้องสมุดวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม
วิธีที่ 8 จัดห้องสมุดให้เป็นสถานที่อบรมให้ความรู้ ห้องสมุดวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม มีห้องประชุม และห้องอินเทอร์เน็ต ให้บริการจัดอบรม แก่ชุมชน ผู้ใช้ห้องสมุด แต่ละที่ไม่เหมือนกัน บรรณารักษ์ต้องเรียนรู้ธรรมชาติของผู้ใช้บริการ บรรณารักษ์ดี ต้องหน้าไม่งอ ยิ้มแย้มแจ่มใส อดทนที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ จนเกิดเป็นวัฒนธรรม ปฏิบัติตามๆ กัน จากรุ่นสู่รุ่น เมื่อนั้น ห้องสมุดจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่แท้

ห้องสมุด 3 ดี

ห้องสมุด 3 ดี
มีหลายคนเปรียบเทียบห้องสมุดเมืองไทยกับแมวเก้าชีวิต ไม่มีวันตายแต่จะไม่รุ่งเรืองหรือร่วงโรยขึ้นอยู่กับมุมมองหรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการ ที่รับผิดชอบดูแลห้องสมุด
เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีชื่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษญ์ วิถีของห้องสมุดทุกระดับในเมืองไทย โดยเฉพาะห้องสมุดโรงเรียนทั้งในสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอาชีวศึกษา มีการปรับเปลี่ยนเพื่อสนองตอบนโยบายห้องสมุด 3 ดี ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์
ในสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษามีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ เนื่องจากห้องสมุดได้ถูกทอดทิ้งมานาน ห้องสมุดในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวส่วนใหญ่ จะเจริญหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการสถานศึกษา แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระดับหัวแถว ผู้บริหารระดับกรมตอบรับนโยบายหีองสมุด 3ดี สถานศึกษาก็ดูจะมีแนวทางในการพัฒนาห้องสมุดเพื่อตอบสนองต่อโครงการมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการคือนักเรียนนักศึกษา
ห้องสมุด 3ดี นั้น คำว่า “ดี” เป็น ดี ไทย ไม่ใช่ ดี ในภาษาอังกฤษ จึงเป็นคนละอย่างกับสถานศึกษา 3D ห้องสมุด 3ดี ประกอบด้วย หนังสือดี บรรยากาศดีส่งเสริมการอ่าน และสุดท้ายต้องมีบรรณารักษ์ดี เคยมรอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือผู้ช่วยศาสตราจารย์เพ็ญพันธ์ เพชรศร เคยปรับ 3ดี ในภาษาไทย ให้เป็นห้องสมุด 3D ในภาษาอังกฤษ คือ หนังสือดี = Book Desired, บรรยากาศดี = Delightful Atomosphere และ บรรณารักษ์ดี = Dashing Librarian เพื่อสอดคล้องกับสถานศึกษา 3D และเคยใช้คำภาษาอังกฤษที่ว่านี้ในการจัดนิทรรศการ ห้องสมุด 3ดี ในงาน 68 ปี อาชีวะไทยก้าวไกลสู่สากล มาแล้ว ซึ่งเป็นที่ชื่นชม ของท่านรัฐมนตรีเจ้าของโครงการและเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์) เป็นอย่างยิ่ง
การจัดทำห้องสมุด 3ดี ในสถานศึกษาไม่เน้นตัวอาคาร ดังนั้นในขั้นแรกจึงใช้งบประมาณน้อย งบประมาณจะเน้นไปที่การจัดหาหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาให้นักเรียนนักศึกษาอ่าน แต่คำว่าหนังสือดีนั้น จะได้หนังสือดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ดีที่ 2 คือ บรรณารักษ์ดี เพราะ บรรณารักษ์ดีต้องจัดหาหนังสือที่ตรงใจผู้อ่านเหมาะกับวัย มีทั้งความรู้และความบันเทิง มีผู้กล่าวลักษณะของบรรณารักษ์ดี ไว้ว่า ต้องมีจิตชอบบริการ (service mind) ไม่หน้างอ ยิ้มแย้มแจ่มใส ช่วยเหลือผู้มาใช้บริการขณะเดียวกันต้องมีความรู้เทคโนโลยีบ้างตามสมควรเพื่อปรับปรุงห้องสมุดให้มีความทันสมัยมากขึ้น และจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
ดีที่ 3 คือ บรรยากาศดี เพื่อส่งเสริมการอ่าน อาคารที่มีอยู่ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับการใช้งาน อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อน หรือถ้าร้อน ควรมีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศตามสภาพ จัดบริเวณให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้ครบครัน มีการตกแต่งให้มีชีวิตชีวา มีต้นไม้บ้าง น้ำพุบ้าง มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนบ้าง ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับดีที่ 2 ที่กล่าวมาคือ บรรณารักษ์ดีนั่นเอง
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีการกำหนดมาตรฐานห้องสมุด 3ดี โดยกำหนดตัวบ่งชี้เพื่อไว้ประเมินห้องสมุดของสถานศึกษา และมีการอบรมผู้ทำงานในห้องสมุด 3ดี ในการจัดนิทรรศการ ทั้งนิทรรศการส่งเสริมการอ่าน นิทรรศการ 68 ปี อาชีวะไทยก้าวหน้าไกลสู่สากลและสุดท้าย จัดจำลองห้องสมุด 3ดี ที่เป็นห้องสมุดไร้พรมแดน หรือ e-Library ในงานวันครูโลก ในวันที่ 26-28 สิงหาคม 2553 นี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีการปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมให้ห้องสมุดสถานศึกษามีมาตรฐาน 3ดี
ในวันนี้ ของห้องสมุด สถานศึกษา สังกัด สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ได้เข้ามาถึงจุดเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากที่เคยปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องสมุดเทคโนโลยี เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาและหลังจากนั้น ห้องสมุดเทคโนโลยีขาดการดูแลและติดตามผล ส่งผลให้ห้องสมุดหลายแห่งไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้ หรือ ถ้ายังใช้การได้ก็มีการปรับระบบห้องสมุดอัตโนมัติไปบ้าง ดังนั้น เมื่อมีการนำมาตรฐานห้องสมุด 3ดี มาเป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ห้องสมุดมีความเจริญรุ่งเรือง ก้าวไกลไปสู่ความเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) ในอนาคต

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การสร้างและหาประสิทธิภาพเอกสารประกอบการสอน

ชื่อเรื่อง : การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ รหัสวิชา 30001601 โดยใช้เอกสารประกอบการสอน ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม The study of Education achievement in Library and Information literacy subject using instructional material




บทคัดย่อ


รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ รหัสวิชา 3000-1601 โดยใช้เอกสารประกอบการสอน ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม มีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างเอกสารประกอบการสอนวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ รหัสวิชา 3000-1601 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังการเรียนด้วยเอกสารประกอบการสอน และศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียน ต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ รหัสวิชา 3000-1601ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงชั้นปีที่ 1วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม โดยประชากรที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่นักศึกษาที่เรียนวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 จำนวน 199 คน และกลุ่มตัวอย่างได้แก่นักศึกษา ระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 1 สาขาไฟฟ้ากำลัง จำนวน 41 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการสอน ตามมาตรฐาน E1/E2 เท่ากับ79.38/79.48 ซึ่งสูงกว่าที่ตั้งไว้ที่ 70/70 ค่าดัชนีประสิทธิผลมีค่า .70 แสดงว่าเอกสารทำให้ผู้เรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนคิดเป็น ร้อยละ 70 และผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการสอนโดยใช้เอกสารประกอบการสอนในระดับมากผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนหลังการเรียน โดยใช้เอกสารประกอบการสอนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ .05 ทุกหน่วยการเรียน

วิจัยอาชีวศึกษา

ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน e-Learning วิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ รหัสวิชา 30001601 วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม (The Development of Library and Information Literacy instruction by e-learning method , Nakhon Pathom Technical College)


บทคัดย่อ

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน e-Learning วิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ รหัสวิชา 30001601 วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ที่จัดทำขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบ e-Learning ของวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม โดยใช้โปรแกรม moodle เพื่อใช้ในการสอนเสริมในระบบปกติและใช้ในการเรียนการสอนทางไกล ผลการศึกษา พบว่า โปรแกรม moodle สามารถสร้างหน้าเว็บเพจของระบบ e-Learning วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม โดยมีรายวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ รหัสวิชา 3000-1601 ที่ใช้เป็นกรณีศึกษา ได้ ด้านการจัดการรายวิชา สามารถเพิ่มผู้สอน ผู้เรียน โดยกำหนดสิทธิ์ให้กับผู้สอนและผู้เรียนตามสถานะ การจัดการแหล่งข้อมูลและกิจกรรม สามารถเพิ่มแหล่งข้อมูลและกิจกรรมได้ตามแผนการจัดการสอนที่ออกแบบไว้ได้ ได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหาร 1 คน(รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม) ครู 2 คน และนักศึกษา 10 คน พบว่าผู้ใช้สามารถทำตามคู่มือการใช้และมีความพึงพอใจในระดับมาก