วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

ห้องสมุด 3 ดี

ห้องสมุด 3 ดี
มีหลายคนเปรียบเทียบห้องสมุดเมืองไทยกับแมวเก้าชีวิต ไม่มีวันตายแต่จะไม่รุ่งเรืองหรือร่วงโรยขึ้นอยู่กับมุมมองหรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการ ที่รับผิดชอบดูแลห้องสมุด
เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีชื่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษญ์ วิถีของห้องสมุดทุกระดับในเมืองไทย โดยเฉพาะห้องสมุดโรงเรียนทั้งในสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอาชีวศึกษา มีการปรับเปลี่ยนเพื่อสนองตอบนโยบายห้องสมุด 3 ดี ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์
ในสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษามีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ เนื่องจากห้องสมุดได้ถูกทอดทิ้งมานาน ห้องสมุดในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวส่วนใหญ่ จะเจริญหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการสถานศึกษา แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระดับหัวแถว ผู้บริหารระดับกรมตอบรับนโยบายหีองสมุด 3ดี สถานศึกษาก็ดูจะมีแนวทางในการพัฒนาห้องสมุดเพื่อตอบสนองต่อโครงการมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการคือนักเรียนนักศึกษา
ห้องสมุด 3ดี นั้น คำว่า “ดี” เป็น ดี ไทย ไม่ใช่ ดี ในภาษาอังกฤษ จึงเป็นคนละอย่างกับสถานศึกษา 3D ห้องสมุด 3ดี ประกอบด้วย หนังสือดี บรรยากาศดีส่งเสริมการอ่าน และสุดท้ายต้องมีบรรณารักษ์ดี เคยมรอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือผู้ช่วยศาสตราจารย์เพ็ญพันธ์ เพชรศร เคยปรับ 3ดี ในภาษาไทย ให้เป็นห้องสมุด 3D ในภาษาอังกฤษ คือ หนังสือดี = Book Desired, บรรยากาศดี = Delightful Atomosphere และ บรรณารักษ์ดี = Dashing Librarian เพื่อสอดคล้องกับสถานศึกษา 3D และเคยใช้คำภาษาอังกฤษที่ว่านี้ในการจัดนิทรรศการ ห้องสมุด 3ดี ในงาน 68 ปี อาชีวะไทยก้าวไกลสู่สากล มาแล้ว ซึ่งเป็นที่ชื่นชม ของท่านรัฐมนตรีเจ้าของโครงการและเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์) เป็นอย่างยิ่ง
การจัดทำห้องสมุด 3ดี ในสถานศึกษาไม่เน้นตัวอาคาร ดังนั้นในขั้นแรกจึงใช้งบประมาณน้อย งบประมาณจะเน้นไปที่การจัดหาหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาให้นักเรียนนักศึกษาอ่าน แต่คำว่าหนังสือดีนั้น จะได้หนังสือดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ดีที่ 2 คือ บรรณารักษ์ดี เพราะ บรรณารักษ์ดีต้องจัดหาหนังสือที่ตรงใจผู้อ่านเหมาะกับวัย มีทั้งความรู้และความบันเทิง มีผู้กล่าวลักษณะของบรรณารักษ์ดี ไว้ว่า ต้องมีจิตชอบบริการ (service mind) ไม่หน้างอ ยิ้มแย้มแจ่มใส ช่วยเหลือผู้มาใช้บริการขณะเดียวกันต้องมีความรู้เทคโนโลยีบ้างตามสมควรเพื่อปรับปรุงห้องสมุดให้มีความทันสมัยมากขึ้น และจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
ดีที่ 3 คือ บรรยากาศดี เพื่อส่งเสริมการอ่าน อาคารที่มีอยู่ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับการใช้งาน อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อน หรือถ้าร้อน ควรมีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศตามสภาพ จัดบริเวณให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้ครบครัน มีการตกแต่งให้มีชีวิตชีวา มีต้นไม้บ้าง น้ำพุบ้าง มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนบ้าง ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับดีที่ 2 ที่กล่าวมาคือ บรรณารักษ์ดีนั่นเอง
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีการกำหนดมาตรฐานห้องสมุด 3ดี โดยกำหนดตัวบ่งชี้เพื่อไว้ประเมินห้องสมุดของสถานศึกษา และมีการอบรมผู้ทำงานในห้องสมุด 3ดี ในการจัดนิทรรศการ ทั้งนิทรรศการส่งเสริมการอ่าน นิทรรศการ 68 ปี อาชีวะไทยก้าวหน้าไกลสู่สากลและสุดท้าย จัดจำลองห้องสมุด 3ดี ที่เป็นห้องสมุดไร้พรมแดน หรือ e-Library ในงานวันครูโลก ในวันที่ 26-28 สิงหาคม 2553 นี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีการปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมให้ห้องสมุดสถานศึกษามีมาตรฐาน 3ดี
ในวันนี้ ของห้องสมุด สถานศึกษา สังกัด สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ได้เข้ามาถึงจุดเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากที่เคยปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องสมุดเทคโนโลยี เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาและหลังจากนั้น ห้องสมุดเทคโนโลยีขาดการดูแลและติดตามผล ส่งผลให้ห้องสมุดหลายแห่งไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้ หรือ ถ้ายังใช้การได้ก็มีการปรับระบบห้องสมุดอัตโนมัติไปบ้าง ดังนั้น เมื่อมีการนำมาตรฐานห้องสมุด 3ดี มาเป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ห้องสมุดมีความเจริญรุ่งเรือง ก้าวไกลไปสู่ความเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: