วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

10 วิธีการประชาสัมพันธ์ห้องสมุด

จงตีฆ้องร้องป่าวด้วยตนเอง (เพราะไม่มีใครมาทำให้)
: 10 วิธีการประชาสัมพันธ์ห้องสมุด แปลจาก Toot your own horn (because no one else will : 10 ways to market your library โดย Chris Hughes, )

บทนำ
บรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนมักมีโลกเล็กๆของตนเอง บรรณารักษ์ทุกคนจะทราบดีว่าในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี จะต้องทำอะไรบ้าง โดยเริ่มตั้งแต่ จัดหางบประมาณมาจัดซื้อทรัพยากร สอนวิธีการใช้ห้องสมุด ปลูกฝังการเรียนรู้ทุกอย่างจนถึงทำป้ายบอกทางไปห้องน้ำ จัดซื้อ จัดเก็บและรักษาทรัพยากรสารสนเทศ ออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ และการอ่านสำหรับนักเรียน สอนให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดบริการในสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ติดต่อกับผู้ปกครอง และทำรายงานต่อผู้อำนวยการ ประทับตราห้องสมุดที่ตัวทรัพยากร เตรียมทรัพยากรขึ้นชั้นเพื่อให้บริการ ติดป้ายลาเบลเพื่อเตรียมให้ยืม และแสดงทรัพยากรใหม่ให้ผู้ใช้รู้ นี่คือสิ่งที่บรรณารักษ์รู้ว่าต้องทำและเข้าใจว่าห้องสมุดคือหัวใจของการศึกษา แต่ที่สำคัญคือเรารู้ของเราอยู่คนเดียว คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่บรรณารักษ์ ไม่รู้ด้วย
จากการศึกษาห้องสมุดโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา พบว่า ข้อมูลเบื้องต้นของผู้บริหารในด้านที่เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดคือบรรณารักษ์ ของโรงเรียน (Oberg, 1997:7) ผู้บริหารส่วนมากไม่ได้รับการฝึกอบรมและรู้น้อยมากเกี่ยวกับงานต่างๆ ของห้องสมุด และทำให้รับรู้เฉพาะสิ่งที่บรรณารักษ์บอก นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่า 97% ของผู้บริหารสัมผัส งานบรรณารักษ์เพียงผิวเผิน จุดมุ่งหมายของบทความนี้เพื่อเป็นการยกตัวอย่างบางสิ่งที่บรรณารักษ์สามารถทำได้และแสดงให้ผู้บริหาร ผู้ร่วมงาน และชุมชน เห็นในสิ่งที่ทำ ผู้เขียนหวังว่าบทความเรื่อง “10 วิธีการประชาสัมพันธ์ห้องสมุด” นี้ จะทำให้บรรณารักษ์สามารถรู้วิธีการประชาสัมพันธ์ห้องสมุดให้คนอื่นรับรู้ได้มากขึ้น
1)ต้องรู้ว่าการประชาสัมพันธ์จะต้องมีอะไรบ้าง
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์หรือการบริการ คือจุดขาย ถ้าเพิ่มความประทับใจแก่ผู้ใช้ในทางที่ดี และ รวม
ความบันเทิงเข้าไป จะได้ผลเพิ่มขึ้น ถ้าเราสามารถดึงจุดเด่นที่เป็นไปในทางบวก เสริมความบันเทิงเล็กน้อยมาเป็นจุดในการโปรโมท ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะใหญ่หรือเล็ก การประชาสัมพันธ์ย่อมประสบความสำเร็จ
2)ให้ความใส่ใจกับผู้บริหาร
ผู้บริหารมีความสำคัญ เราทำอะไรไม่ได้ถ้าผู้บริหารไม่ให้การสนับสนุน ในกิจกรรมที่จะทำ ผู้บริหาร
สามารถให้คุณให้โทษกับห้องสมุดได้ เช่น ทำให้ครูเห็นความสำคัญของห้องสมุดและกิจกรรมห้องสมุด และขณะเดียวกันก็ทำอันตรายกับห้องสมุดได้กับตลกร้ายๆ เช่น ห้องสมุดมีแต่หนังสือเก่า หรือ บรรณารักษ์ไม่ใช่ครูที่แท้จริง จุดมุ่งหมายของการดำเนินงานห้องสมุดคือ ต้องทำให้ผู้บริหารเห็นคุณค่าของห้องสมุดและช่วยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดให้ดำเนินไป

3)จัดทำรายงานประจำปี
ในระหว่างปี จะต้องเก็บปริมาณงานของห้องสมุดว่ามีอะไรบ้างและจัดทำสถิติ งานต่างๆ รวมทั้งผู้เข้า
เยี่ยม เหตุการณ์พิเศษ การจัดแสดงนิทรรศการ การจัดหา ฯลฯ สรุปคือต้องเก็บสถิติทุกสิ่งที่ทำ และจัดทำเป็นรายงานประจำปี หรือ จัดทำรายงานทุกๆ 3 เดือน รายงานจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะประเมินผลการให้บริการและกิจกรรมห้องสมุด
4)นิเทศงานเมื่อมีเจ้าหน้าที่ใหม่
การนิเทศ ทำให้ผู้ร่วมงานใหม่เรียนรู้วิธีการทำงานได้รวดเร็วเร็ว เราต้องแนะนำให้ผู้ร่วมงานใหม่รู้ว่า
อะไรคือสิ่งที่ต้องทำและอะไรคือสิ่งที่ห้องสมุดคาดหวัง บอกถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากการสนับสนุนงานห้องสมุด ในขณะเดียวกัน จะต้องจัดทำหลักสูตรใหม่ๆ เพื่ออบรมเจ้าหน้าที่เก่าๆ ให้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตนเองให้ทันต่อเหตุการณ์
5)จัดทำจดหมายข่าวของห้องสมุด
สิ่งที่ดีทีสุดที่จะทำให้ผู้ร่วมงานและองค์กรรู้เกี่ยวกับห้องสมุด คือการประกาศถึงสิ่งที่กำลังทำและสิ่งที่ทำเสร็จแล้ว รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อย ไม่ว่า เรื่องตลก ข้อโต้แย้งต่างๆ หรือ ข้อมูลที่ผู้อ่านสามารถนำไปใช้ได้ทันที ถ้าไม่สามารถนำไปฝากไว้กับจดหมายข่าวขององค์กรได้ จงสร้างจดหมายข่าวของเราเองโดยทำในรูปสิ่งพิมพ์หรือ จัดทำเป็นอีเมล์ก็ได้
6)จัดให้มีเมนูอาหารเช้าในห้องสมุด
ทุกคนชอบของฟรี ในแต่ละเดือนๆ ละ 1 ครั้ง ควรจัดให้มีการดื่มกาแฟ คลอด้วยดนตรีคลาสสิกพร้อม
อาหารเช้าในห้องสมุด พร้อมกับบอกผู้ที่มาร่วมว่า นี่คือการแสดงความขอบคุณสำหรับการให้การสนับสนุนกิจการห้องสมุด ใช้ช่วงเวลานี้พูดกับทุกๆ คนเกี่ยวกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเราจะทำและขอความอนุเคราะห์ให้ทุกคนสนับสนุนกิจกรรมของห้องสมุดต่อไป
7)จัดเลหลังหนังสือเก่า
ห้องสมุดส่วนใหญ่ต้องจำหน่ายหนังสือออกจากห้องสมุด หลายแห่งเลือกการบริจาค โดยดูจากอายุ
การใช้งาน เงื่อนไขที่กำหนด และเนื้อหาของหนังสือ จงเก็บทรัพยากรที่จะจำหน่ายแต่ไม่ต้องการบริจาค นำมาเลหลังในราคาถูกที่สุด นำเงินนี้มาใช้ในการจัดเมนูอาหารเช้าของห้องสมุด และใช้ช่วงเวลาการเลหลังหนังสือเก่านี้ ทำการโปรโมทกิจกรรมของห้องสมุดไปพร้อมๆ กัน
8)จัดงานนิทรรศการขายหนังสือ
งานนิทรรศการขายหนังสือ จะทำให้เราสามารถเชิญตัวแทนอื่นๆนอกจากตัวแทนจำหน่าย ร้านหนังสือ
สำนักพิมพ์ ที่เคยขายหนังสือให้ห้องสมุด มาร่วมออกร้านและแสดงหนังสือ หนังสือที่นำมาจำหน่ายในงานควรลดราคาลงบ้าง ผู้ที่มาออกร้านจำหน่ายหนังสือ จะให้เปอร์เซ็นต์หรือเงินสดหรือหนังสือกับห้องสมุด เราสามารถใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นรู้ว่างานขายหนังสือทำให้ห้องสมุดได้หนังสือใหม่ๆ มา ผู้บริหารอาจชอบใจความคิดนี้ เพราะทำให้ได้หนังสือมาฟรีๆ
9)ทำให้ห้องสมุดเป็นห้องประชุมอเนกประสงค์
ห้องสมุดเป็นสถานที่ที่มีความจรรโลงใจ เราสามารถจัดห้องสมุดให้เป็นห้องพบปะสังสรรค์ ห้องสัมมนา
หรือ ห้องประชุมได้ บางครั้งเป็นความยากลำบากที่จะทำงานร่วมกับคนอื่น แต่เราจำเป็นต้องทำ เพราะเป็นการเพิ่มคุณค่าความสำคัญให้กับห้องสมุด
10)ประชาสัมพันธ์ตนเอง
สิ่งที่สำคัญที่สุดในห้องสมุดคือคนทำงาน จงประชาสัมพันธ์ตนเองตลอดเวลา ไมว่าในช่วงพัก ช่วงพบ
ปะสังสรรค์ หรือ งานสังคมต่างๆ จงทำให้คนเห็นเราเป็นตัวแทนของห้องสมุด และทำให้เขารู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง
สรุป
ห้องที่เต็มไปด้วยหนังสือไม่ใช่ห้องสมุด ห้องสมุดจะต้องเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เป็นที่รวมศาสตร์ทุกแขนง เป็นแหล่งภูมิปัญญาของโรงเรียน เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล และเป็นธุรกิจของชุมชน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของบรรณารักษ์ที่จะทำให้ทุกๆ คนรู้ถึงความจริงดังกล่าว

(บทความนี้ ได้รับรางวัลจากชมรมบรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศนานาชาติ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย)


ผู้แปล นาถระพินทร์ เบ็ญจวงค์ e-mail: som_noi@yahoo.com หรือ natben2008@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: