วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

peer group คืออะไร

การศึกษาแบบ Peer group คืออะไร
Peer group เป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนที่อาศัยการร่วมและการแบ่งปันกันในกลุ่มสมาชิก ตามลักษณะของกลุ่ม เช่น แบ่งตามอายุ หรือ แบ่งตามหลักคุณธรรม โดยปกติแล้วจะแบ่งตามอายุ โดยเฉพาะในช่วงวัยที่เป็นผู้ใหญ่และมีความใกล้ชิดกัน กลุ่มเพื่อน นี้ มีลักษณะ
1. มีระดับ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทางสังคมสูง 2. มี รูปแบบการทำงานตามลำดับขั้นขององค์กร 3. มีความแตกต่างกันด้านประสบการณ์ ผลที่ได้จากการร่วมมือกันคือรางวัลที่กลุ่มจะได้รับ
Peer group เป็นรูปแบบของการถ่ายทอดข้อมูลหรือแบบของบทบาทซึ่งเป็นพฤติกรรมหรือข้อมูลที่ต้องการให้เกิด กลุ่มเป้าหมายใน รูปแบบ peer ได้แก่ กลุ่มที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น เพศ อายุ เป็นต้น ในที่นี้ จะนับเฉพาะกลุ่มอายุ 14-20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ผลที่สุด

การศึกษาแบบ peer group ทำให้ผู้เรียนเป็นนักการศึกษา
ผู้เรียน โดยมากมักจะประสบปัญหาทางสังคม ถ้าทำให้ผู้เรียนมีจุดมุ่งหมายที่สามารถสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนได้ด้วยตนเอง แล้ว คุณภาพที่เกิดจะเป็นสิ่งที่เป็นเสมือนภารกิจ ที่ออกมาจากใจ และอยู่ในอุดมคติ
รูปแบบการเรียนแบบ peer group จะมีลักษณะที่ทำให้ผู้เรียนผูกพันกับปัญหาที่มีผลต่อตัวผู้เรียน กระบวนการเรียนรู้ จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นตัวสร้างเรื่องราวสำหรับผู้เรียนให้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ช่วยกันแก้ปัญหา และทำให้เกิดความเข้าใจจุดมุ่งหมายร่วมกัน เพื่อนในกลุ่มเดียวกัน จะมีความเข้าใจความต้องการ ในเสรีภาพและพัฒนาการของกันและกัน และมีความรับผิดชอบ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมและมีคุณค่าต่อเพื่อน ทำให้เกิดสถานการณ์ที่พิเศษ การศึกษาแบบ peer group มีมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติ้ล ศตวรรษที่ 18 และได้รับความนิยมมากในยุโรป ส่วนมากจะได้ประโยชน์กับการใช้ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ในการเรียนรู้ ทั้งในและนอกระบบ เป็นการช่วยให้เด็กรู้จักการช่วยเหลือตนด้วยตนเอง

เป้าหมายของการใช้กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน
1. ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เรียนอย่างถ่องแท้ มีมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ
2. ด้านการติดต่อสื่อสาร มีการสื่อสารกันตามบทบาทหน้าที่ของผู้เรียนแต่ละคนในกุล่ม ทั้งนี้ตามรูปแบบการปฏิบัติงานกลุ่ม เกม ดนตรี และ สื่อการสอน การอภิปรายและการเล่าเรื่อง
3. ทำให้เพิ่มประสิทธิผล จากแหล่งเรียนรู้
4. เพิ่มอำนาจแก่ผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนสามารถควบคุมกระบวนการเรียนรู้ และขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนที่จะทำให้การเรียนดำเนินไปอย่างไร ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และผู้เรียนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
การศึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในกลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มเพื่อนจะช่วยสร้างความมั่นใจ กล้าที่จะเผชิญกับปัญหาใหม่ เพราะมีความคุ้นเคยในกลุ่ม
2. เพื่อนแต่ละคนในกลุ่มได้เรียนรู้กันและกัน รู้จักข้อดีข้อด้อยของตนจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์
3. สร้างอำนาจและความเป็นผู้นำในกลุ่ม
4.แบ่งปันความรู้สึกร่วมกันในการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง
5. กลุ่มเพื่อนจะทำให้แต่ละคนเห็นคุณค่าของกันและกัน
6. กลุ่มใหญ่มองเห็นปัญหาในภาพรวม จากปัญหาย่อยๆ ในแต่ละกลุ่ม ทำให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ
7. กลุ่มเพื่อนจะรักษาต้นแบบให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์
8. กลุ่มเพื่อนจะกระตุ้นให้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงได้
9. กลุ่มเพื่อนจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับวัยรุ่นจนกล้าท้าทายปัญหาของตนได้ทุกรูปแบบ
10 กลุ่มเพื่อนจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในกลุ่ม
ค้นจาก Domino. (online) “section 2 what is peer group education & section 3
why use peer group education for the campaign difference – all equal”. Retrieved June 26, 2551 from http://www.eycb.coe.int/domino/02.html

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

10 วิธีการประชาสัมพันธ์ห้องสมุด

จงตีฆ้องร้องป่าวด้วยตนเอง (เพราะไม่มีใครมาทำให้)
: 10 วิธีการประชาสัมพันธ์ห้องสมุด แปลจาก Toot your own horn (because no one else will : 10 ways to market your library โดย Chris Hughes, )

บทนำ
บรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนมักมีโลกเล็กๆของตนเอง บรรณารักษ์ทุกคนจะทราบดีว่าในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี จะต้องทำอะไรบ้าง โดยเริ่มตั้งแต่ จัดหางบประมาณมาจัดซื้อทรัพยากร สอนวิธีการใช้ห้องสมุด ปลูกฝังการเรียนรู้ทุกอย่างจนถึงทำป้ายบอกทางไปห้องน้ำ จัดซื้อ จัดเก็บและรักษาทรัพยากรสารสนเทศ ออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ และการอ่านสำหรับนักเรียน สอนให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดบริการในสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ติดต่อกับผู้ปกครอง และทำรายงานต่อผู้อำนวยการ ประทับตราห้องสมุดที่ตัวทรัพยากร เตรียมทรัพยากรขึ้นชั้นเพื่อให้บริการ ติดป้ายลาเบลเพื่อเตรียมให้ยืม และแสดงทรัพยากรใหม่ให้ผู้ใช้รู้ นี่คือสิ่งที่บรรณารักษ์รู้ว่าต้องทำและเข้าใจว่าห้องสมุดคือหัวใจของการศึกษา แต่ที่สำคัญคือเรารู้ของเราอยู่คนเดียว คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่บรรณารักษ์ ไม่รู้ด้วย
จากการศึกษาห้องสมุดโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา พบว่า ข้อมูลเบื้องต้นของผู้บริหารในด้านที่เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดคือบรรณารักษ์ ของโรงเรียน (Oberg, 1997:7) ผู้บริหารส่วนมากไม่ได้รับการฝึกอบรมและรู้น้อยมากเกี่ยวกับงานต่างๆ ของห้องสมุด และทำให้รับรู้เฉพาะสิ่งที่บรรณารักษ์บอก นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่า 97% ของผู้บริหารสัมผัส งานบรรณารักษ์เพียงผิวเผิน จุดมุ่งหมายของบทความนี้เพื่อเป็นการยกตัวอย่างบางสิ่งที่บรรณารักษ์สามารถทำได้และแสดงให้ผู้บริหาร ผู้ร่วมงาน และชุมชน เห็นในสิ่งที่ทำ ผู้เขียนหวังว่าบทความเรื่อง “10 วิธีการประชาสัมพันธ์ห้องสมุด” นี้ จะทำให้บรรณารักษ์สามารถรู้วิธีการประชาสัมพันธ์ห้องสมุดให้คนอื่นรับรู้ได้มากขึ้น
1)ต้องรู้ว่าการประชาสัมพันธ์จะต้องมีอะไรบ้าง
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์หรือการบริการ คือจุดขาย ถ้าเพิ่มความประทับใจแก่ผู้ใช้ในทางที่ดี และ รวม
ความบันเทิงเข้าไป จะได้ผลเพิ่มขึ้น ถ้าเราสามารถดึงจุดเด่นที่เป็นไปในทางบวก เสริมความบันเทิงเล็กน้อยมาเป็นจุดในการโปรโมท ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะใหญ่หรือเล็ก การประชาสัมพันธ์ย่อมประสบความสำเร็จ
2)ให้ความใส่ใจกับผู้บริหาร
ผู้บริหารมีความสำคัญ เราทำอะไรไม่ได้ถ้าผู้บริหารไม่ให้การสนับสนุน ในกิจกรรมที่จะทำ ผู้บริหาร
สามารถให้คุณให้โทษกับห้องสมุดได้ เช่น ทำให้ครูเห็นความสำคัญของห้องสมุดและกิจกรรมห้องสมุด และขณะเดียวกันก็ทำอันตรายกับห้องสมุดได้กับตลกร้ายๆ เช่น ห้องสมุดมีแต่หนังสือเก่า หรือ บรรณารักษ์ไม่ใช่ครูที่แท้จริง จุดมุ่งหมายของการดำเนินงานห้องสมุดคือ ต้องทำให้ผู้บริหารเห็นคุณค่าของห้องสมุดและช่วยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดให้ดำเนินไป

3)จัดทำรายงานประจำปี
ในระหว่างปี จะต้องเก็บปริมาณงานของห้องสมุดว่ามีอะไรบ้างและจัดทำสถิติ งานต่างๆ รวมทั้งผู้เข้า
เยี่ยม เหตุการณ์พิเศษ การจัดแสดงนิทรรศการ การจัดหา ฯลฯ สรุปคือต้องเก็บสถิติทุกสิ่งที่ทำ และจัดทำเป็นรายงานประจำปี หรือ จัดทำรายงานทุกๆ 3 เดือน รายงานจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะประเมินผลการให้บริการและกิจกรรมห้องสมุด
4)นิเทศงานเมื่อมีเจ้าหน้าที่ใหม่
การนิเทศ ทำให้ผู้ร่วมงานใหม่เรียนรู้วิธีการทำงานได้รวดเร็วเร็ว เราต้องแนะนำให้ผู้ร่วมงานใหม่รู้ว่า
อะไรคือสิ่งที่ต้องทำและอะไรคือสิ่งที่ห้องสมุดคาดหวัง บอกถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากการสนับสนุนงานห้องสมุด ในขณะเดียวกัน จะต้องจัดทำหลักสูตรใหม่ๆ เพื่ออบรมเจ้าหน้าที่เก่าๆ ให้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตนเองให้ทันต่อเหตุการณ์
5)จัดทำจดหมายข่าวของห้องสมุด
สิ่งที่ดีทีสุดที่จะทำให้ผู้ร่วมงานและองค์กรรู้เกี่ยวกับห้องสมุด คือการประกาศถึงสิ่งที่กำลังทำและสิ่งที่ทำเสร็จแล้ว รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อย ไม่ว่า เรื่องตลก ข้อโต้แย้งต่างๆ หรือ ข้อมูลที่ผู้อ่านสามารถนำไปใช้ได้ทันที ถ้าไม่สามารถนำไปฝากไว้กับจดหมายข่าวขององค์กรได้ จงสร้างจดหมายข่าวของเราเองโดยทำในรูปสิ่งพิมพ์หรือ จัดทำเป็นอีเมล์ก็ได้
6)จัดให้มีเมนูอาหารเช้าในห้องสมุด
ทุกคนชอบของฟรี ในแต่ละเดือนๆ ละ 1 ครั้ง ควรจัดให้มีการดื่มกาแฟ คลอด้วยดนตรีคลาสสิกพร้อม
อาหารเช้าในห้องสมุด พร้อมกับบอกผู้ที่มาร่วมว่า นี่คือการแสดงความขอบคุณสำหรับการให้การสนับสนุนกิจการห้องสมุด ใช้ช่วงเวลานี้พูดกับทุกๆ คนเกี่ยวกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเราจะทำและขอความอนุเคราะห์ให้ทุกคนสนับสนุนกิจกรรมของห้องสมุดต่อไป
7)จัดเลหลังหนังสือเก่า
ห้องสมุดส่วนใหญ่ต้องจำหน่ายหนังสือออกจากห้องสมุด หลายแห่งเลือกการบริจาค โดยดูจากอายุ
การใช้งาน เงื่อนไขที่กำหนด และเนื้อหาของหนังสือ จงเก็บทรัพยากรที่จะจำหน่ายแต่ไม่ต้องการบริจาค นำมาเลหลังในราคาถูกที่สุด นำเงินนี้มาใช้ในการจัดเมนูอาหารเช้าของห้องสมุด และใช้ช่วงเวลาการเลหลังหนังสือเก่านี้ ทำการโปรโมทกิจกรรมของห้องสมุดไปพร้อมๆ กัน
8)จัดงานนิทรรศการขายหนังสือ
งานนิทรรศการขายหนังสือ จะทำให้เราสามารถเชิญตัวแทนอื่นๆนอกจากตัวแทนจำหน่าย ร้านหนังสือ
สำนักพิมพ์ ที่เคยขายหนังสือให้ห้องสมุด มาร่วมออกร้านและแสดงหนังสือ หนังสือที่นำมาจำหน่ายในงานควรลดราคาลงบ้าง ผู้ที่มาออกร้านจำหน่ายหนังสือ จะให้เปอร์เซ็นต์หรือเงินสดหรือหนังสือกับห้องสมุด เราสามารถใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นรู้ว่างานขายหนังสือทำให้ห้องสมุดได้หนังสือใหม่ๆ มา ผู้บริหารอาจชอบใจความคิดนี้ เพราะทำให้ได้หนังสือมาฟรีๆ
9)ทำให้ห้องสมุดเป็นห้องประชุมอเนกประสงค์
ห้องสมุดเป็นสถานที่ที่มีความจรรโลงใจ เราสามารถจัดห้องสมุดให้เป็นห้องพบปะสังสรรค์ ห้องสัมมนา
หรือ ห้องประชุมได้ บางครั้งเป็นความยากลำบากที่จะทำงานร่วมกับคนอื่น แต่เราจำเป็นต้องทำ เพราะเป็นการเพิ่มคุณค่าความสำคัญให้กับห้องสมุด
10)ประชาสัมพันธ์ตนเอง
สิ่งที่สำคัญที่สุดในห้องสมุดคือคนทำงาน จงประชาสัมพันธ์ตนเองตลอดเวลา ไมว่าในช่วงพัก ช่วงพบ
ปะสังสรรค์ หรือ งานสังคมต่างๆ จงทำให้คนเห็นเราเป็นตัวแทนของห้องสมุด และทำให้เขารู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง
สรุป
ห้องที่เต็มไปด้วยหนังสือไม่ใช่ห้องสมุด ห้องสมุดจะต้องเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เป็นที่รวมศาสตร์ทุกแขนง เป็นแหล่งภูมิปัญญาของโรงเรียน เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล และเป็นธุรกิจของชุมชน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของบรรณารักษ์ที่จะทำให้ทุกๆ คนรู้ถึงความจริงดังกล่าว

(บทความนี้ ได้รับรางวัลจากชมรมบรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศนานาชาติ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย)


ผู้แปล นาถระพินทร์ เบ็ญจวงค์ e-mail: som_noi@yahoo.com หรือ natben2008@gmail.com

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บุคคลที่ประสบความสำเร็จจากประสบการณ์การเป็นนักอ่าน

มหาตมะ คานธี
มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) (2 ตุลาคม ค.ศ. 1869 - 30 มกราคม ค.ศ. 1948) เดิมชื่อ โมหันทาส กรรมจันทร์ คานธี เกิดเมื่อปี 1869 ในครอบครัวชาวฮินดู รัฐคุชราต อินเดียตะวันตก เป็นผู้นำและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวอินเดีย เป็นผู้นำคนสำคัญกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร โดยใช้วิธีอหิงสา ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นต้นแบบของการประท้วงแบบสันติที่ได้รับการยกย่อง แต่งงานกับกัสตูร์ (กะปะเธีย สกุลเดิม) คานธี เมื่ออายุ 13 ปี ต่อมา เขาได้ไปเรียนต่อด้านกฎหมายที่ลอนดอน และในปี 1891 เขาเข้าร่วมกลุ่ม Inner Temple เขาทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงเรื่องสิทธิของผู้อพยพชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ และเขาได้พัฒนาลัทธิต่อต้านความอยุติธรรมขึ้นที่นั่น เขามักถูกจับขังคุกบ่อย ๆ เพราะการประท้วงที่เขาเป็นผู้นำ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับอินเดียพร้อมครอบครัวในปี 1915 เขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอินเดียในแอฟริกาได้อย่างมาก
ในเวลาไม่นานหลังกลับมาอินเดีย เขาก็กลายเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษ เขาไม่เคยลังเลในความเชื่อที่มั่นคงเกี่ยวกับการประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรงและความอดทนตามหลักศาสนา ไม่ว่าเมื่อประชาชนชาวมุสลิมและชาวฮินดูก่อเหตุรุนแรงต่อชาวอังกฤษผู้ปกครองอินเดีย หรือเมื่อทั้งสองกลุ่มสู้รบกันเอง เขาจะอดอาหารประท้วงจนความรุนแรงยุติลง การที่อินเดียได้รับเสรีภาพจากอังกฤษในปี 1947 ไม่ได้เกิดจากชัยชนะทางการทหาร แต่เป็นชัยชนะแห่งความพยายามของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม คานธีรู้สึกหมดหวังที่ประเทศต้องถูกแบ่งแยกเป็นฝ่ายฮินดูในอินเดีย และมุสลิมในปากีสถาน ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของชีวิต เขาพยายามจะยุติความรุนแรงที่น่าหวาดกลัวซึ่งเป็นผลจากการแบ่งแยกประเทศ ทำให้คานธีต้องอดอาหารประท้วงจนเกือบเสียชีวิต เหตุจลาจลจึงสงบลงได้
ในเดือนมกราคม ปี 1948 คานธีมีอายุ 79 ปี เขาถูกลอบสังหารขณะกำลังเดินผ่านฝูงชนที่แออัดในสวนแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลีเพื่อไปสวดมนต์ตอนเย็น

ในเรื่องของหนังสือ คานธีไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือที่เรียกว่าจัดนัก ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ในสมัยท่านไม่เปิดโอกาสให้ คานธีได้รับผลจากการอ่าน ก็ตรงที่รู้จักวิจารณ์และตั้งปัญหา ความใคร่ครวญ ทำให้แตกฉาน และมีความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ได้แนวติดใหม่ๆ เสมอ ช่วงหนึ่งที่คานธีถูกคุมขัง คือช่วงเวลาที่ท่านได้อ่านหนังสือ ซึ่งบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าเป็นสุข และเชื่อว่าใครก็ตามซึ่งมีรสนิยมในการอ่านหนังสือดี ย่อมสามารถทนต่อความเงียบเหงาในทุกแห่งได้สบาย”
ยิ่งถูกคุมขังหลายครั้งเข้า คานธีก็ยิ่งแตกฉานในเรื่องการอ่านหนังสือ ท่านได้ศึกษางานของปราชญ์หลายท่าน นอกจากนั้นก็ใช้เวลาเขียนบ้าง สอนเพื่อนนักโทษบ้าง ระเบียบเรือนจำ คานธีได้รับอนุญาตให้เขียนจดหมายเดือนละ 1 ฉบับ เขาเลือกเขียนเป็นภาษาอังกฤษถึงลูกชาย และแนะนำเรื่องการเรียนด้วยตนเอง และแนะนำการอ่านหนังสือ เมื่อโทษสิ้นสุดลง คานธีต้องออกไปปฏิบัติภารกิจข้างนอก การอ่านจึงถูกพักไว้ ในท่ามกลางความทุกข์ยากของเรือนจำ ท่านบันทึกไว้ว่า
“หนังสือช่วยข้าพเจ้าไว้”

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์
"การชอบอ่านหนังสือเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่ง"

ถ้า สนธิ ลิ้มทองกุล คือ โลโก้ของ ผู้จัดการ ระวิ โหลทอง คือ สัญลักษณ์ของกลุ่ม สยามสปอร์ต และ สุทธิชัย หยุ่น คือ เครื่องหมายการค้าของกลุ่ม เนชั่น แน่นอน a day คือ ตัวตนและบทสะท้อนความเป็นวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ จากชวนผู้อ่านร่วมกันลงขันทำนิตยสาร ปัจจุบัน a day ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 พร้อมกับการแตกลูกแตกหลานออกเป็นนิตยสารหลายฉบับ ทั้ง HAMBURGER , KMOCK KNOCK ! , และ a day weekly หนึ่งใน 50 Young Executive ที่มาจากการโหวตของผู้อ่าน
วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เล่าประวัติตัวเองใน หนังสือ a day story ว่า เป็นเด็กเรียนหนังสือเก่ง สมัยเรียนประถมศึกษา สอบไล่ได้อันดับที่ 1 เป็นประจำ เมื่อจบ ม.3 เลือกเรียนสายอาชีพ โดยสอบเรียนต่อที่แผนกการโรงแรม ของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ โดยให้เหตุผลว่า เพราะอยากใส่กางเกงขายาว แต่เมื่อจบ ปวช. กลับเปลี่ยนใจมาสอบเอนทรานซ์ ซึ่งทำได้ดี โดยสอบเข้าคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ เขาเลือกเรียนเอกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ขณะเรียนที่นี่ วงศ์ทะนง มีประสบการณ์หนึ่งที่ทำให้เขามีเวลาว่างเข้าห้องสมุด อ่านหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ จนทำให้เขากลายเป็นนักอ่าน เป็นหนอนหนังสือ และอยากเป็นคนเขียนหนังสือ
วงศ์ทนง เริ่มงานเขียนโดยเป็นบรรณาธิการบทความ นิตยสาร GM บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Trendy Man รองบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร IMAGE และผู้ก่อตั้งบริษัทเดย์อาฟเตอร์เดย์ จำกัด ภายหลังเข้าร่วมกับทราฟฟิค คอร์เนอร์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ผลิต นิตยสาร a day, Hamberger, a day weekly และ Knock Knock
การอ่านหนังสือมีส่วนในการหล่อหลอมให้เป็นอย่างทุกวันนี้ มากที่สุด เพราะ องค์ความรู้ส่วนใหญ่ในชีวิตมาจากการอ่าน คนมักจะพูดว่าคนเขียนหนังสือได้มาจากพรสวรรค์ แต่ตัวเองเชื่อว่าการชอบอ่านหนังสือ ถือเป็นพรสวรรค์ได้อย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนทำได้นะ เรื่องการชอบอ่าน อ่านไปเรื่อย อ่านเยอะๆ ถือว่าโชคดีมากที่มีลักษณะเช่นนี้อยู่
หนังสือ ในดวงใจ มี ต้นส้มแสนรัก ร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
ไม่มีเล่มใดเล่มหนึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมไปทั้งหมด หนังสือแต่ละเล่มให้ให้ประโยชน์แก่ชีวิตเราแตกต่างกันไป เล่มหนึ่งอ่านแล้วอารมณ์ดี อ่านแล้วมีความสุข บางเล่มอ่านแล้วได้ข้อคิด บางเล่มอ่านแล้วได้แรงบันดาลใจ แต่ละเล่มมีคุณูปการแตกต่างกันไป จึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเล่มไหนมี ผลกระทบกับเรา 2 เล่มข้างต้นคือเล่มที่ประทับใจ แต่เล่มที่มีผลเปลี่ยนแปลงเราเลย ยังไม่เจอนะ
แต่สิ่งที่ใกล้เคียง ให้แรงบันดาลใจ และความคิดเรา ได้แก่ ธรรมดาและเรียบง่าย การเดินทางแสวงหาความหมาย ชีวิตผ่านชุมชนอามิช ของซู เบนเดอร์ และ หนังสือชือ คืนชีวิตสู่ความเรียบง่ายของ เอเลน เซนต์ เจมส์ สองเล่มนี้พูดถึงปรัชญาแบบ less is more ไม่มากก็น้อยมันเหนี่ยวรั้งให้เราไม่ทะยานอยากจนเกินไป และให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เล็ก 2 เล่มนี้อ่านแล้วตัวเล็ก ไม่ตัวพอง สงบเสงี่ยมเจียมตน สมถะ
ความจริงเป็นคนที่ชอบอ่านสิ่งที่ง่ายๆ ป๊อปๆ เช่น รหัสลับดาวินชี เราก็สนุกกับมันมาก หรือแม้กระทั่ง หนังสือแปลหลายๆเล่ม โดยเฉพาะงานแปลของเทศภักดิ์ นิยมเหตุ ตั้งแต่ อเล็กซานเดอร์ บอสส์ , แผ่นดินนี้เราจอง ส่วนหนึ่งต้องยกให้นักแปลที่แปลได้เข้าไส้ดีมาก เป็นหนังสือชุดที่อ่านแล้วสนุก มีอารมณ์ขัน เป็นหนังสือที่มีจังหวะที่น่าสนใจมาก เหมือนหนัง เราอยากเขียนหนังสืออย่างนี้ ถ้าจะเขียนนิยายคงเป็นนิยายที่มีบทสนทนาเยอะๆ
เราจะละเลยไม่พูดถึงงานเขียนของชาติ กอบจิตติไม่ได้ สะพานขาด ของกนกพงษ์ สงสมพันธุ์รวมทั้ง ก่อกองทราย ของไพฑูรย์ ธัญญา เป็นรวมเรื่องสั้นที่ดีมาก
อีกเล่มคือ ซอยเดียวกัน ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ เป็นเรื่องสั้นที่มีเอกภาพมากๆ มีพลังอ่านสนุก ชอบ ทุกวันนี้ยังเป็นแฟนคอลัมน์เขาอยู่อย่างเหนียวแน่นในมติชนสุดสัปดาห์
เรื่องท่องเที่ยวชอบของขจรฤทธิ์ รักษา เขียนเรื่อง หลวงพระบาง เพิ่งอ่านจบไป ออกมาหลายเดือนแล้ว แต่ไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้ พอมาอ่านแล้วชอบมาก เป็นบันทึกการเดินทางไปหลวงพระบางคนเดียวของเขา ได้อารมณ์ มีสีสัน มีบรรยากาศมาก ด้วยความเป็นมือวรรณกรรมของนักเขียนจึงเล่าเรื่องออกมาได้มีชีวามากๆ ชอบมาก ว่าจะเขียนจดหมายไปบอกเขาว่าชอบมาก

อ่านหนังสือทุกวัน เราเชื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาเราอ่านหนังสือก่อนนอนทุกวัน รอล้างรถก็อ่าน รถติดก็อ่าน เป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตที่เรียกว่าติด ติดการอ่านหนังสือมากๆ

ฝากถึงผู้อ่าน เข้าใจว่าการบังคับให้ใครซื้อหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้เป็นเรื่องของรสนิยมเฉพาะของแต่ละคน แต่สำหรับหนังสือบางเล่ม นิตยสารบางเล่ม ต้องการการสนับสนุนที่พิเศษกว่านั้น เช่นหนังบางเรื่องมันดีมาก แต่มันอาจจะไม่ถูกรสนิยมส่วนใหญ่ของตลาด ซึ่งเราก็รู้ว่ารสนิยมส่วนใหญ่ของคนในประเทศมันถูกครอบงำด้วยการค้าขาย เพราะฉะนั้นงานศิลปะบางอย่างที่ดีและมีคุณค่า สิ่งพิมพ์ในเครือเราจะสนับสนุน จะเป่าประกาศ จะทำหน้าที่สื่อมวลชนให้คนได้รับรู้ ยั่วเย้าให้เขาสนใจอยู่แล้ว
ภารกิจของคนเสพ ถ้าคุณรักหนังจริงๆ รักเพลง หรือวรรณกรรมจริงๆ คุณต้องสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม คือลงไปซื้อด้วย อุดหนุนเขา เช่นผมเป็นคนที่ซื้อวรรณกรรมที่เยอะมาก โดยเฉพาะนักเขียนที่ผมติดตามผมงานมาระยะหนึ่งแล้ว เชื่อว่าคนนี้เป็นตัวจริงทำงานจริงๆ รวมถึงนักเขียนหน้าใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะทำงานดี ผมอุดหนุนเลย ผมซื้อวรรณกรรมเยอะมาก อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง แต่ซื้อไว้ก่อน เหมือนกับหนังบางเรื่องที่ดี ผมควักตังค์ดูเลย ไม่ไปดูรอบสื่อมวลชนที่ดูฟรี ผมคิดว่า 100-200 ของผมคือการช่วยที่เป็นรูปธรรม หรือศิลปินที่ทำงานจริงจัง มีคุณภาพ ผมซื้อ ไม่ควรได้แต่คิดเห็นใจ
กำลังใจมีค่าน้อยกว่ากำลังเงิน บอกตรงๆ สำหรับคนที่ทำงานศิลปะจำนวนมากในประเทศที่ต้องการการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม คืออุดหนุนเขา เป็นสิ่งที่ทำอยู่ ไม่อย่างนั้นวันหนึ่งที่สังคมเกลื่อนไปด้วยงานในกระแส วันหนึ่งที่คนทำงานศิลปะ ที่มีคุณภาพอยู่ไม่ได้ จะเป็นวันที่สังคมโดยรวมจะแย่

นายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
นายอานันท์ ปันยารชุน เกิดเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๗๕ ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน ๑๒ คนของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) และ คุณหญิงปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร)
ประวัติครอบครัว การทำงานและการอบรมบุตรธิดาของมหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์นั้นน่าสนใจ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความเป็นนายอานันท์ พระยาปรีชานุสาสน์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานหลายด้าน ทั้งภาคราชการและภาคเอกชน ในภาคราชการ ก่อนที่ท่านจะลาออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว ท่านเคยดำรงตำแหน่ง ปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ อันเป็นตำแหน่งสูงสุดตำแหน่งหนึ่งของข้าราชการประจำ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ ท่านกราบถวายบังคมลามาประกอบธุรกิจก่อตั้งบริษัทไทยพาณิชการ จำกัด และออกหนังสือ Siam Chronicle ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของคนไทย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นนายกคนแรกของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการพิเศษ ในตำแหน่งที่ปรึกษาทางวัฒนธรรม ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน คนแรก
นายอานันท์เริ่มเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนประถมเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง บนถนนสุรศักดิ์ที่เชื่อมต่อระหว่างถนนสีลมและถนนสาทร ในปี ๒๔๘๖ เข้ารับการศึกษาในระดับมัธยม (ประถมปีที่ ๕ ในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ จนจบมัธยมปีที่ ๓ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองย้ายเข้ารับการศึกษาในชั้นมัธยม ๔ (มัธยมศึกษาปีที่ ๑ ในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนนันทศึกษาเป็นการชั่วคราว แล้วจึงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จนจบมัธยม ๗ (มัธยมศึกษาปีที่ ๕ ในปัจจุบัน) ต่อจากนั้นได้เดินทางไปศึกษา ณ โรงเรียนดัลลิช (Dulwich College) ประเทศอังกฤษในปี ๒๔๙๑ ก่อนเข้ารับการศึกษา ณ ตรินิตี้คอลเลจ (Trinity College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ในปี ๒๔๙๕ จนสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายในระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยม ในปี ๒๔๙๘
นายอานันท์เป็นผู้ที่ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดในหน้าที่การงานหลายด้าน ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการประจำ ในด้านการทูต ด้านธุรกิจ และด้านการเมือง นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งอื่นๆ อีกมากในด้านสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาศึกษา เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ในการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการประจำในกระทรวงการต่างประเทศ นายอานันท์เริ่มเข้ารับราชการในปี ๒๔๙๘ เป็นข้าราชการชั้นโท ต่อมาในปี ๒๕๐๒ ปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แล้วมาเป็นเลขานุการเอกและที่ปรึกษา คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทย ประจำสหประชาชาติ ในปี ๒๕๐๗
ในปี ๒๕๑๐ นายอานันท์เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต รักษาการผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูตประจำประเทศแคนาดา แล้วในปี ๒๕๑๕ เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา และผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ค ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยในปี ๒๕๒๐ เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และต่อมาในปี ๒๕๒๐ จึงเข้าดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตพิเศษประจำกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
ด้วยความผกผันอันสืบเนื่องมาจากสาเหตุด้านการเมือง ในปี ๒๕๒๒ นายอานันท์ลาออกจากราชการเข้าสู่วงการธุรกิจ โดยเข้ารับตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) แล้วขึ้นเป็นประธานกรรมการบริษัทฯ ในปี ๒๕๓๔ ปัจจุบันนายอานันท์เป็นประธานกรรมการของบริษัทต่างๆ รวม ๕ บริษัท และเป็นกรรมการบริษัท กรรมการที่ปรึกษา และที่ปรึกษาของบริษัทข้ามชาติต่างๆ อีก ๕ บริษัท ทั้งในอดีต นายอานันท์เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญต่างๆ ในภาคธุรกิจอีกมากมาย เช่น ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
นายอานันท์ ปันยารชุน ชอบอ่านหนังสือ ในการประชุมบรรณารักษ์นานาชาติ ของ IFLA ครั้งที่ 65 ซึ่งจัดที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย นายอานันท์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม ในหัวข้อ Reaching the Information Gateways : An Unfinished Task ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกลุ่มสหยูเนี่ยน โดยกล่าวว่าชอบอ่านจนเป็นนิสัย อ่านเพื่อพัฒนาตนเอง และอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ปัจจุบันนายอานันท์ดำรงตำแหน่งที่สำคัญขององค์กรต่าง ๆ ของประเทศและองค์กรนานาชาติหลายองค์กร เช่น ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง ด้านภัยคุกคาม ความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลง องค์การสหประชาชาติ เป็นกรรมการ สถาบันอู ถั่น เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ เอเซีย แปซิฟิค ลีดเดอชิพ ฟอรัม ออน เอชไอวี/เอดส์ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ (เอพีแอลเอฟ)
ในด้านสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาการศึกษา เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนายอานันท์ดำรงที่สำคัญ เช่น เป็นสมาชิกคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เป็นประธานสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเซีย เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย เป็นประธานกรรมการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประธานกรรมการสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ฯลฯ ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญในอดีตอีกมากมาย
ในด้านการเมือง นายอานันท์เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีถึง ๒ สมัย สมัยแรกตั้งแต่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๔ ถึง ๒๑ เมษายน ๒๕๓๕ และสมัยที่สองตั้งแต่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕ ถึง ๑ ตุลาคม ๒๕๓๕
ในยุคที่มีกระแสความต้องการให้มีการปฏิรูปการเมือง สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หรือที่เรัยกกันทั่วไปว่าเป็น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และประชาชนมีส่วนร่วม ในการออกความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์ นายอานันท์มีบทบาทสำคัญคือ ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
ด้วยผลงานด้านต่างๆ ที่นายอานันท์ได้ทำมา ทำให้นายอานันท์ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจในปี ๒๕๔๐ ได้รับการประกาศเกียรติคุณต่างๆ รวมทั้งปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันศึกษาหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม ๒๐ สถาบัน นายอานันท์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์ (ชั้น ๓) มหาวชิรมงกุฎ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ทั้งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศอิตาลี เกาหลี อินโดนีเซีย เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น และในกรณีของอังกฤษนั้น ได้รับ Honorary Knight Commander of the Civil Division of the Most Exellent Order of the British Empire (KBE) ซึ่งถ้าเป็นคนสัญชาติสหราชอาณาจักร ก็จะมีตำแหน่งเป็น Sir
นายอานันท์สมรสกับ ม.ร.ว. สดศรี จักรพันธุ์ มีบุตรี ๒ คนคือ นางนันดา ไกรฤกษ์ และนางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ มีหลาน ๓ คนคือ น.ส. ทิพนันท์ จากนางนันดา ซึ่งสมรสกับ นายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ และ ด.ญ. ศิริญดา และ ด.ช. ธนาวิน จากนางดารณี ซึ่งสมรสกับ ดร. ชัชวิน เจริญรัชต์ภาคย์

งามพรรณ เวชชาชีวะ นักเขียนซีไรท์ 2006
งามพรรณ เวชชาชีวะ เกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อ วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. 2506 เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนศรีวิกรม์ จบปริญญาตรีสาขาภาษาฝรั่งเศส (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2528 และประกาศนียบัตรการแปล (ฝรั่งเศส – อังกฤษ – อิตาเลียน) จากโรงเรียนล่ามและแปลของรัฐบาลเบลเยี่ยม ณ กรุงบรัสเซลล์ พ.ศ. 2530 เริ่มทำงานครั้งแรกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่แปลของบริษัท มีเดียโฟกัส ก่อนจะเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ นิตยสารเพื่อนใหม่ นิตยสารสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ซิล์คโรดพับบลิเชอร์ เอเยนซี จำกัด ดูแลลิขสิทธิ์วรรณกรรมให้กับนักเขียนและต่างประเทศ เป็นผู้บรรยายพิเศษด้านการแปลและเรื่องลิขสิทธิ์ ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ และเป็นกรรมการตัดสินการประกวดนิทานและเรื่องแต่งสำหรับเยาวชน
งามพรรณมีผลงานแปลจากภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอิตาเลียนตีพิมพ์กว่า 20 เรื่อง อาทิ ภิกษุกับนักปรัชญา, คู่มือธุรกิจลิขสิทธิ์, ด้วยรักและช็อกโกแลต, แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี หนึ่งปีแสนสุขในโปรวองซ์ ผลงานตีพิมพ์ล่าสุด คือ ปริศนาในสายลมร้อน จัดพิมพ์โดย แพรวสำนักพิมพ์ และ แสนสุขเสมอในโปรวองซ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน และ มาตาปารี เด็กชายจากดวงดาวนอกจากนี้ยังเป็นผู้บรรยายพิเศษด้านการแปลและลิขสิทธิ์ให้กับสถาบันศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆและกรรมการตัดสินการประกวดนิทาน และเรื่องแต่งสำหรับเยาวชน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ได้รับอิสริยาภรณ์ศิลปะและอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน (Chevalier de l’Ordre des Arts et des Lettres) จากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะผู้มีผลงานด้านวรรณกรรมและเผยแพร่วัฒนธรรมฝรั่งเศส
ความสุขของกะทิ เป็นผลงานประพันธ์เล่มแรก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพรว ผลงานเรื่องนี้ได้รับการแปลและการตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษ เยอรมัน และญี่ปุ่น ฉบับภาษาฝรั่งเศสและภาษาคาตาลันมีกำหนดจัดพิมพ์ภายในปีนี้
ผลงานที่ผ่านมา แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี พลังแห่งชีวิต แม่ พลังแห่งชีวิต พ่อ เสียงรักจากทรัมเป็ตหงส์ (The Trumpet of the Swan) นิยามความรัก

ชอบอ่านหนังสือตอนเย็นๆ หลังทานข้าวจะไปนั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นด้วยกันต่างคนต่างนั่งอ่าน พอโตมาหน่อยก็อ่านหนังสือลลนา สตรีสาร โตมาก็เปลี่ยนหนังสืออ่านไปเรื่อยๆ พอดีเรียนมาทางด้านอักษรศาสตร์ พี่จบคณะศิลปศาสตร์ก็ถูกใช้ให้อ่านหนังสืออยู่แล้ว วัฒนธรรมการอ่านของบ้านเราพัฒนาขึ้น ถ้าดูจากจำนวนคนไปงานสัปดาห์หนังสือ ทุกคนก็จะลากกระเป๋าใบใหญ่ๆ กัน แต่เขาก็จะซื้อปีละแค่2ครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่มากันเป็นครอบครัวพ่อ แม่ ลูก แล้วหนังสือก็ไม่ได้มีแค่บันเทิงเพียงอย่างเดียว คนที่พยายามเพิ่มค่าให้กับตัวเอง ก็อ่านหนังสือที่ให้ความรู้ เช่นหนังสือ How to แล้วสำนักพิมพ์ก็ทำหนังสือสวยๆงามๆ น่าอ่าน ยิ่งหนังสือนิตยสารมีมากมาย มีความหลากหลายมาก มีทั้งเฉพาะกลุ่มด้วย ใครที่อ่านหนังสือก็จะได้เปรียบกว่าคนอื่น มันเป็นคุณสมบัติที่ตามมา เพราะว่าพอเราอ่านมากเราก็เขียนได้ คนที่เขียนหนังสือได้จะได้เปรียบ เพราะเป็นคุณสมบัติที่ไม่ใช่ทุกคนจะมี มีหนังสือของท่านประยุต ที่พูดถึงเรื่องกายป่วยแต่ใจไม่ป่วย จำได้ว่ามีผู้ใหญ่ให้มา อ่านแล้วก็นึกถึงว่าตัวท่านเองก็สุขภาพไม่ค่อยดี แต่ท่านก็เป็นกำลังสำคัญแก่พุทธศาสนา สำหรับตัวเองก็ป่วยบ้างไม่ป่วยบ้าง แต่ก็รู้แล้วว่า ถ้าเราแยกได้ว่าป่วยแล้วใจไม่ห่อเหี่ยวไปกับมันด้วยมันก็เป็นกำไร คือหนังสือเล่มนี้สอนวิธีในการมองโลกหลายๆอย่าง
-ผู้ที่เป็นต้นแบบในเรื่องของการประสบความสำเร็จในชีวิตหรือประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ คือ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ถือว่าท่านเป็นแม่แบบ ที่เรามองด้วยความเคารพนับถือ คือถ้าเราทำอะไรเท่าท่านแม้เพียงนิดเดียวก็คงจะดี เพราะท่านทำงานด้วยใจรัก เป็นงานที่สร้างสรรค์ และเป็นการทำอย่างต่อเนื่อง สตรีสารเองก็สร้างนักเขียนมามากมาย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของท่าน และได้มีโอกาสทำงานกับท่านด้วย ท่านมีสายตาที่กว้างไกลและมีความสนใจในเรื่องรอบตัว ท่านเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและท่านทำให้เรารู้สึกว่างานหนังสือเป็นงานที่มีเกียรติ โดยส่วนตัวคิดว่าการทำธุรกิจต้องมีอะไรหลายอย่างที่เป็นองค์ประกอบกัน เช่นความพึงพอใจของคนที่มาติดต่องานกับเรา ความซื่อสัตย์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราอยู่ได้ อย่างเรื่องการทำลิขสิทธิ์ เราต้องดูว่า เป็นหนังสือที่ไม่มีพิษมีภัยเล่มไหนเลี่ยงได้ก็เลี่ยง
จบจากศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการหล่อหลอมตัวตนมาจนถึงทุกวันนี้ มีความภูมิใจในเลือดเหลือง-แดงค่อนข้างสูง ธรรมศาสตร์สมัยที่เรียนอยู่ มีลักษณะของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อความถูกต้อง และที่สำคัญคือเพื่อความเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสิทธิสตรีหรือความเท่าเทียมกันในแง่ของโอกาส เมื่อมองย้อนกลับไปรู้สึกว่าตัวเองได้รับอิทธิพลจากสิ่งเหล่านี้ตอนที่เราเรียนหนังสืออยู่ธรรมศาสตร์ และรู้สึกว่าตัวเองต้องทำประโยชน์หรือให้อะไรตอบแทนแก่สังคมบ้าง
ถ้ามองย้อนกลับไป ก็จะรู้สึกว่าทุกอย่างมันผ่านมาเป็นขั้นตอน ถ้าถามว่ามีอะไรที่อยากจะแก้ไข พี่ก็ไม่ค่อยรู้สึกนะคะ รู้สึกว่าตัวเองที่มีวันนี้เพราะมันมีเรื่องราวที่ผ่านมา มันมีความสุขใจ ทุกข์ใจ มีความสนุกสนาน หรือความรู้สึกอะไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมามันทำให้เราพร้อมที่จะมีวันนี้ ถ้าเราลองมาย้อนดู ก็จะพบว่าเรามาไกล และชีวิตของเรามาถึงจุดนี้แล้ว ชีวิตพี่ พี่คิดว่าการเขียนหนังสือก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตอีกจุดหนึ่งเหมือนกัน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี
เป็นนักวิชาการด้านสาธารณสุขและการศึกษาชาวไทย เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ ตำบลเกาะสำโรง บนฝั่งลำน้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายกลายและนางกิม วะสี ศึกษาชั้นมูลที่โรงเรียนวัดเหนือ ชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนประชาบาลตำบลเกาะสำโรง ชั้นมัธยมที่โรงเรียนวิสุทธรังษี จนถึง พ.ศ. 2490 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในปี พ.ศ. 2492 สามารถสอบเข้าเรียนต่อชั้นเตรียมแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จบการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตร์เกียรตินิยม และได้รับรางวัลเหรียญทองในฐานะที่ได้คะแนนเป็นที่หนึ่งตลอดหลักสูตร
ประวัติการศึกษา
•2490 มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวิสุทธรังษี
•2492 มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
•2498 พ.บ. มหาวิทยาลัยมหิดล
•2503 Ph.D. มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา
•2504 มนุษยพันธุศาสตร์ (Human Genetics) มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ประวัติการทำงาน
1 การเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน อาจารย์คณ
แพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช พ.ศ. 2504 - 2519 ศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 จากชีวิตจริงที่เคยยากจนในชนบท ศาสตราจารย์ ดรใประเวศ วะสี ได้พยายามอบรมสั่งสอนนักศึกษาแพทย์ ให้เห็นความสำคัญของชาวชนบทที่ห่างไกล ได้จัดวางหลักการอบรมสาธารณสุขมูลฐานแก่พระภิกษุ กระจายความรู้ด้านการแพทย์และสาธรณสุขพื้นฐาน ไปสู่ชนบท โดยเขียนลงในวารสาร หนังสือต่าง ๆ รวมทั้งยังเป็นเจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารหมอชาวบ้าน เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางเวชกรรมและการสาธรณสุขแก่ประชาชน
2 การตรวจรักษาและการวิจัย ด้านการวิจัย ได้รับทุนวิจัยจากกระทรวงสาธรณสุข
และของ China Medical Board วิจัยธรรมชาติของเลือดเกี่ยวกับความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงเนื่องจากกรรมพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดโรคโลหิตจาง และพบวิธีการป้องกันรักษา ผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับทั่วภายในและต่างประเทศ และได้รับเชิญไปบรรยาย ณ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยหลายแห่งเกือบทุกทวีปทั่วโลก บทความทางวิชาการได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศมากกว่า 150 เรื่อง นอกจากนั้นยังได้แต่งตำราวิชาโลหิตและคู่มือโลหิตวิทยา และยังได้รับทุนวิจัยของ National Institute of Health ประเทศสหรัฐอเมริกา
3 งานบริหาร
•รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผน มหาวิทยาลัยมหิดล (2522-2526)
•หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (2528-2530)
•ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข(2527-2530)
•ประธานและรองประธานหรือกรรมการขององค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมากมาย รวมทั้งมูลนิธิ และสถาบันทางวิชาการอื่นรวมกว่า 60 ชุด
•ประธานสถาบันวิจัยสาธารณสุขไทย (2536-ปัจจุบัน)
•ประธานมูลนิธิไทย
•ประธานคณะกรรมการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ แผนกแพทยศาสตร์ มูลนิธิ อานันทมหิดล และกรรมการมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกแพทยศาสตร์
•ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
•ประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการหลักการการจัดตั้งราชวิทยาลัย ครุศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
•ประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาพืชสมุนไพรเพื่อการผลิตยาทางอุตสาหกรรม องค์การเภสัชกรรม
•คณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
•คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการต่างๆ
•คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ม.มหิดล, ธรรมศาสตร์, จุฬาฯ,สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), สถาบันราชภัฏ, ขอนแก่น, สงขลา
•คณะกรรมการอำนวยการสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท ม.จุฬาฯ
•ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการส่งเสริมการวิจัยการศึกษาแห่งชาติ
•ประธานกรรมการวิชาการมูลนิธิรางวัลมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
•คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
•คณะกรรมการการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ
•คณะกรรมการอำนวยการโครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Steering Committee) กระทรวงสาธารณสุข
รางวัลเกียรติคุณ
•2498 ได้รับรางวัลเหรียญทองในฐานะที่ได้คะแนนเป็นที่ 1 ตลอดหลักสูตร
•2500 รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ และต่อมาทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อต่างประเทศ
•2512 ได้รับรางวัลพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ในฐานะครูแพทย์ที่ดีเป็นคนแรกของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
•2524 ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐ
•2526 รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2526
•2528 ได้รับเลือกเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาการแพทย์ ได้รับเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา
•2531 ได้รับเลือกเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
•2533 รับเหรียญเชิดชูเกียรติ Tobacco and Health ของ WHO
•ต.ค. 2541 ได้รับรางวัลบุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านการวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา จากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วย UNESCO
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี นอกจากจะมีความเป็นเลิศทางวิชาการ การวิจัยและการพัฒนาสังคม ท่านยังเป็นผู้มีจิตใจเป็นนักพัฒนาสังคม เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม อุทิศตนเหนือส่วนรวม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย สุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน ตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง จนสามารถพิสูจน์ให้คนไทยและชาวโลก ได้เห็นถึงความจริงใจและจริงจัง ในการทำงานเพื่อสังคม จึงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นคนที่มีนิสัยรักการอ่าน เพราะโอกาสและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือคุณย่าอ่านหนังสือไม่ออก แต่ชอบฟังเรื่องจากหนังสือ จึงให้คุณหมออ่านให้ฟัง ทำให้คุณหมอมีโอกาสคุ้นเคยกับหนังสือตั้งแต่เล็กๆ และเมื่ออ่านให้คุณย่าฟังแล้วคุณหมอก็เกิดความสนใจ อยากรู้เรื่องและติดตามอ่าน จึงทำให้มีนิสัยรักการอ่าน

วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บูชาครู

ถิ่นไทยในป่ากว้าง ห่างไกล
แสงอารยธรรมใด ส่องบ้าง
แสงเทียงส่องรำไร เล่มหนึ่ง
ครูนั่นแหละอาจสร้าง เสกให้ ชัชวาล

แต่เทียนทองของไทยในวันนี้ เสี่ยงชีวีด้วยวิญญาอันกล้าหาญ
เพื่อหน้าที่ในแดนถิ่นกันดาร ไม่สะท้านด้วยศักดิ์ศรีวีรชน
เป็นคนที่มีค่าหน้านบไหว้ สละได้แม้ชีวิตมิหวังผล
จะมีใครทั่วหล้าจบสกนธ์ เทียบบุคคลควรคู่ปูชนีย์
ทุกเวลาเฝ้าอบรมสั่งสอนศิษย์ มีชีวิตก้าวหน้าตามวิถี
รู้วิชารู้คุณธรรมรู้ชั่วดี รู้หน้าที่เด็กไทยตามครรลอง
ขอเทียนทองของไทยในวันนี้ ผลกรรมดีดลให้ครูทั้งผอง
หมดความทุกข์มีแต่สุขเรืองรอง เป็นเทียนทองส่องแสงแข่งตะวัน

กล้วยไม้ออกดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป ฉันนั้น
แต่ออกดอกคราใด งามเด่น
การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้ว แสนงาม

วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551

วิจัยในชั้นเรียน

ชื่อผู้วิจัย : นางนาถระพินทร์ เบ็ญจวงค์.
ชื่อเรื่อง : การวิจัยในชั้นเรียน เรื่อง การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและวิธีการสอนแบบร่วมมือ เรื่อง ทรัพยากรอ้างอิง สำหรับนักศึกษา ปวส. 1 แผนกช่างยนต์

บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยในชั้นเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ในวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ เรื่อง ทรัพยากรอ้างอิง แก่นักศึกษา ปวส. 1 แผนกวิชาช่างยนต์ โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ประเภทโปรแกรม เพาเวอร์พอยนต์ และ รูปแบบการสอนแบบร่วมมือ เป็นนวัตกรรม เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังใช้นวัตกรรม และกำหนดเกณฑ์ว่า ร้อยละของผู้เรียนที่เรียนรู้จากนวัตกรรมแล้วสอบผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ กับร้อยละของคะแนนเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ เป็น 80/60 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบทดสอบก่อนและหลังใช้นวัตกรรม ใบงานฝึกปฏิบัติ 2 ใบงาน และแบบสังเกตพฤติกรรมความร่วมมือในกลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. จากการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและวิธีการเรียนแบบร่วมมือ พบว่า หลังใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและการเรียนแบบร่วมมือ ผู้เรียนมีคะแนนเฉลี่ยหลังใช้นวัตกรรมสูงกว่าก่อนใช้นวัตกรรม คิดเป็นร้อยละ 45.90
2. เมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ว่า ผู้เรียนร้อยละ 80 จะต้องมีผลการเรียนหลังใช้นวัตกรรม ร้อยละ 60 พบว่า ผู้เรียนทุกคน (100%) มีผลการเรียนหลังใช้นวัตกรรมร้อยละ 70 ขึ้นไป แสดงว่าสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
3. พฤติกรรมความร่วมมือขณะปฏิบัติงาน พบว่าผู้เรียนมีพฤติกรรมสนใจใฝ่รู้และความมีวินัยอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ส่วนความรับผิดชอบอยู่ในเกณฑ์ดี

วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

รายงานการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการรู้สารสนเทศ โดยชุดการสอนสำหรับครู รายวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ

รายงานการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการรู้สารสนเทศ โดยชุดการสอนสำหรับครู รายวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ
ของนางนาถระพินทร์ เบ็ญจวงค์
รายงานการใช้นวัตกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา (1) เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดการสอนสำหรับครู รายวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดการสอนสำหรับครู กลุ่มเป้าหมาย เป็นนักศึกษาระดับ ปวส. 1 วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 จำนวน 41 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ (1) ชุดการสอนสำหรับครู เพื่อพัฒนาทักษะการรู้สารสนเทศ รายวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ จำนวน 5ชุด ประกอบด้วย ชุดการสอนที่ 1 เรื่อง ทักษะการจำแนก/การกำหนดความต้องการและการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ชุดการสอนที่ 2 เรื่อง ทักษะการกำหนดความต้องการและทักษะการคิดวิเคราะห์ ชุดการสอนที่ 3 เรื่อง ทักษะการสืบค้นและการกำหนดคำค้น ชุดการสอนที่ 4 เรื่อง ทักษะการวิเคราะห์สารสนเทศ และทักษะการอ่าน ชุดที่ 5 เรื่องทักษะในการสังเคราะห์สารสนเทศและทักษะการเขียน (2) แบบประเมินชุดการสอนสำหรับครู โดยมีการประเมินใน 4 ด้าน คือ จุดประสงค์การเรียนรู้ ด้านเนื้อหา ด้านกิจกรรมการสอน และด้านสื่อการเรียนการสอน (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบทดสอบชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก ที่ผ่านการหาความเชื่อมั่นโดยใช้สูตร KR- 20 ของคูเดอร์ - ริชาร์ดสัน (4) แบบประเมินความพึงพอใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดการสอนสำหรับครูของนักศึกษาระดับ ปวส. ปีที่ 1 รายวิชาห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ โดยใช้แบบประเมินมาตรส่วนประมาณค่า 5 ระดับตามแนวของลิเคิร์ท วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ (1) ค่าร้อยละ (Percentage) (2) ค่าเฉลี่ย ( Arithmetic mean) (3) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) (4) ทดสอบความแตกต่างของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ค่า t (Dependent Samples) ผลการศีกษาพบว่า ชุดการสอนสำหรับครูที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.13/80.14 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ประสิทธิภาพที่กำหนดไว้ คือ 75/75 จึงยอมรับว่าชุดการสอนที่ผลิตขึ้นมีประสิทธิภาพ ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของนักศึกษาสูงกว่าระหว่างก่อนเรียน และความพึงพอใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดการสอนสำหรับครู ของนักเรียน นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ทั้ง 5 รายการประเมินผล